ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัย แบงก์แอสชัวรันส์ ไม่ยี่หระกฎเหล็กธปท.ไม่มีผล

เน้นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค รับข้อมูลที่ถูกต้อง สิทธิ์ที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ บริการทางการเงิน ประกันภัย ได้อย่างอิสระ

ประกันภัย แบงก์แอสชัวรันส์ ไม่ยี่หระกฎเหล็กธปท.ไม่มีผล

มกราคม
22

ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เตรียมบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลการเป็นนายหน้า ในการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์ และด้าน ประกันภัย ของธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป หลังจากผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

มุ่งเน้นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคเป็นหลัก อาทิ สิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สิทธิ์ที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างอิสระ เช่น กำหนดให้แบงก์ต้องแสดงความแตกต่างชัดเจน ระหว่างสินค้าของแบงก์ สินค้าหลักทรัพย์ และสินค้า ประกันภัย เอกสารต้องชัดว่าเป็นแบบ ประกันภัย หรือหลักทรัพย์ของบริษัทใด ต้องเปิดเผยข้อมูลผลตอบแทนที่จะได้รับ รวมไปถึงต้องแยกเคาน์เตอร์ขายออกจากเคาน์เตอร์ฝาก-ถอนของแบงก์ ห้ามแบงก์บังคับขายสินค้าหลักทรัพย์และ ประกันภัย ควบคู่กับสินค้าแบงก์ ต้องให้สิทธิ์ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอง และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปฏิเสธซื้อผลิตภัณฑ์ได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การที่แบงก์ชาติคุมเข้มธนาคารเรื่อง การขาย ประกันภัย น่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายผ่านช่องแบงก์แอสชัวรันส์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เติบโตเร็วมากโดยเฉพาะประกันชีวิต ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ย ประกันภัย รับรวม จากช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์มากถึง 104,270.9 ล้านบาท เติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อันดับ 1 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในเครือธนาคารกสิกรไทย มีเบี้ย ประกันภัย รับรวมผ่านช่องทางนี้ 24,686.5 ล้านบาท เติบโต 31% ครองส่วนแบ่งตลาด 23.68% อันดับ 2 บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLife) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ มีเบี้ย ประกันภัย รับรวม 24,186.7 ล้านบาท เติบโต 30% ส่วนแบ่งตลาด 23.20% และอันดับ 3 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ในเครือธนาคารกรุงเทพ มีเบี้ย ประกันภัย รับรวม 17,746.6 ล้านบาท เติบโต 24% ครองส่วนแบ่งตลาด 17.02%

“เคแบงก์” ยกมือพร้อมปฏิบัติ แค่เสริมความชัดเจนอธิบายลูกค้า

รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (เคแบงก์) ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ทางธนาคารคงต้องหารือกันภายในก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อแนวนโยบายของแบงก์ชาติ หลังจากนั้นจะคุยกับบริษัท ประกันภัย พันธมิตร แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ทางแบงก์เอง ก็ปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องของเอกสารข้อมูล (Fact Sheet) สินค้าและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งกสิกรไทยน่าจะเป็นแบงก์เดียว ที่มีบริการนี้ให้กับลูกค้า เพียงแต่อาจต้องเพิ่มความชัดเจนยิ่งขึ้น ในการอธิบายให้กับลูกค้าได้เข้าใจ

“เท่าที่ดูเกณฑ์ของแบงก์ชาติไม่ยากในทางปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่เราก็ทำอยู่แล้ว เราขายผ่านที่ปรึกษาการเงิน ซึ่งขายตามความต้องการลูกค้าอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาในแง่ของการขายผิดแน่ เพียงแต่อาจจะต้องให้ชัดเจนขึ้น ในเรื่องของการอธิบาย รวมไปถึงการแยกเคาน์เตอร์ขาย ปกติลูกค้าจะรู้อยู่แล้วว่าเคาน์เตอร์ใดให้บริการอะไร แต่ต่อไปอาจจะต้องติดป้ายให้ชัดเจนขึ้นว่า เคาน์เตอร์ใดบริการ ประกันภัย เคาน์เตอร์บริการด้านกองทุน”

ทั้งนี้ ยืนยันว่าเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติไม่มีผลด้านยอดขาย การทำตลาดยังคงเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าเบี้ย ประกันภัย จะเป็นไปตามเป้า 25,000 ล้านบาท เติบโต 40% รวมไปถึงเป้าหมายค่าธรรมเนียมทำได้ 100% ตามเป้าแน่นอน

“เมืองไทย-ไทยพาณิชย์” ไม่สะเทือน เกณฑ์แบงก์ชาติไม่มีผลต่อยอดขาย

ด้านกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ให้ความเห็นว่า กฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติในแง่ของการทำตลาดคงไม่มีผล แม้บริษัทจะเป็นเจ้าตลาดแบงก์แอสชัวรันส์ เพราะนโยบายการทำตลาดแบบหลากหลายช่องทางจำหน่าย (Multi Distribution Channel) ไม่ได้ขายผ่านแบงก์อย่างเดียว แต่ในแง่ของการปรับตัวก็คงต้องปรับบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายดังกล่าว

“ธนาคารกสิกรไทยที่เป็นพันธมิตรของเรา เขาคงต้องปรับตัวตามกฎหมาย ในฐานะนายหน้า หรือโบรกเกอร์ ประกันภัย ก็ต้องทำตามกฎระเบียบ ซึ่งเราเคยคุยกันบ้างแล้วในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะกระทบต่อการทำตลาดร่วมกัน”

ส่วนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินธุรกิจตามกรอบกติกา และกฎทั้งของแบงก์ชาติ กลต. และคปภ. อย่างเคร่งครัด รวมทั้งมุ่งพัฒนา และออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้า

“วัตถุประสงค์แบงก์ชาติ ต้องการปกป้องผลประโยชน์ และสิทธิอันชอบธรรมของลูกค้าที่ซื้อ ประกันภัย ผ่านแบงก์ เห็นด้วยกับมาตรการนี้ และอยากสนับสนุนให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนซื้อ หรือคนขาย มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ เพราะเมื่อซื้อประกันชีวิตด้วยความเข้าใจและเห็นคุณค่าแล้ว อัตราการทิ้งกรมธรรม์จะต่ำมาก หรือไม่มีเลย เป็นเป้าหมายการรักษาคุณภาพธุรกิจในระยะยาวของเรา และยังช่วยกันส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยโตอย่างมั่นคง”

ชี้คุมเยอะลูกค้าไม่สะดวกสิ่งสำคัญ “เปิดข้อมูล-ให้ความรู้”

ขณะที่นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การที่แบงก์ชาติควบคุมธนาคาร เรื่องการขาย ประกันภัย ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อยอดขาย ประกันภัย ผ่านธนาคาร จริงๆ แล้ว การให้ธนาคารขาย ประกันภัย ได้เป็นการบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก ให้ธนาคารเป็นจุดที่ผู้บริโภคสามารถซื้อ ประกันภัย ได้ เมื่อไทยพัฒนาขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การซื้อ ประกันภัย ผ่านแบงก์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับความสะดวก การไปคุมเข้ม ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ทั้งนี้ทางธปท. ควรจะมุ่งให้ความรู้กับประชาชนมากกว่า ให้เข้าใจเรื่อง ประกันภัย จะได้รู้ถึงสิ่งที่ต้องการ

ด้านกรรมการผู้จัดการ บมจ. ไทยพาณิชย์สามัคคี ประกันภัย กล่าว ถ้ามองในมุมของแบงก์ชาติ ก็เข้าใจถึงการออกกฎใหม่ ซึ่งเมื่อออกกฎมาก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่ตนมองว่า น่าจะไปบังคับวิธีการขายมากกว่า คือ เวลาที่ธนาคารเสนอขายสินค้าทางการเงินให้กับลูกค้า สมมติเงินฝากต้องนำเสนอ 2 อย่าง คือแบบที่พ่วงกับ ประกันภัย กับแบบที่ไม่พ่วง ประกันภัย รวมถึงบอกข้อดี ข้อเสนอให้ชัดเจนเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือก

“ผมมองว่า ปล่อยให้ตลาดโตไปด้วยกลไก ที่จะสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค คือมีทางเลือกให้ลูกค้าเลือกดีกว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องเปิดเผยข้อมูลกับลูกค้า มองมุมดี การขายพ่วงสินค้าเข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า กฎใหม่ที่ออกมาคงจะทำให้การขาย ประกันภัย ยากขึ้น กระทบกับยอดขาย ประกันภัย ของเราอยู่บ้าง แต่ขึ้นอยู่กับคนขาย คือแบงก์จะหาวิธี หากลยุทธ์อย่างไรให้กับลูกค้า จริงๆ แบงก์แอสชัวรันส์ช่วยให้ตลาด ประกันภัย โต ทำให้คนมีหลักประกันมากขึ้น ลดภาระของชาติ แบงก์มีรายได้เพิ่มขึ้น”

ที่มา : สยามธุรกิจ