ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ยุคทองประกันภัยสุขภาพสบช่องเออีซี ‘บอสต่างชาติ’ ทะลัก

ประกันภัยสุขภาพกลุ่มลูกค้าต่างชาติมีมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท กลุ่มผู้บริหารต่างชาติเหล่านี้มีรายได้สูง ยินดีจ่ายสวัสดิการในจำนวนเงินสูงได้

ยุคทองประกันภัยสุขภาพสบช่องเออีซี ‘บอสต่างชาติ’ ทะลัก

ตุลาคม
1

ประกันภัยสุขภาพเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่คาดหมายว่าจะเติบโตอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง 2555 นี้ โดยเฉพาะประกันภัยสุขภาพระยะยาวที่เริ่มออกมาขายในตลาดมากขึ้น ซึ่งนอกจากเจาะกลุ่มคนไทยกระเป๋าหนักแล้ว ขณะนี้ยังเจาะกลุ่มคนต่างชาติหรือบรรดานักธุรกิจ บริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานในไทย (Expat) ด้วย โดยมองยาวไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะมีคนต่างชาติทะลักเข้าในไทยมากขึ้น เป็นอีกตลาดที่มีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงในอนาคต

ล่าสุดบริษัทประกันภัยสัญชาติไทยแท้อย่าง บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ได้เริ่มเปิดตลาดนี้แล้ว โดยประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับบริษัท แลมป์ อินชัวรันส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านประกันภัยสุขภาพชั้นนำจากอังกฤษ และบริษัท เมดิลิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทน ผ่านระบบเครือข่ายบัตรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีเครือข่ายให้บริการที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดแห่งแรกในเอเชีย ในการออกแบบแผนประกันภัยสุขภาพ Premium Healthcare Insurance เพื่อนำเสนอขายกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ มีให้เลือก 3 แผน โดยอัตราเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 80,000-200,000 บาท คุ้มครอง 24 ชั่วโมงทั่วโลก วงเงินสูงสุด 60 ล้านบาท หรือ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลกว่า 200 แห่งทั่วประเทศและทั่วโลก โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

“ตลาดประกันภัยสุขภาพกลุ่มลูกค้าต่างชาติมีมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท ขณะที่อัตราความเสียหาย (Loss Ratio) อยู่ที่ประมาณ 50-60% ด้านจำนวนถือว่ามีมากนับหลักพันคน ซึ่งกลุ่มผู้บริหารต่างชาติเหล่านี้มีรายได้สูง และยินดีที่จะจ่ายสวัสดิการในจำนวนเงินสูงได้ หากได้รับการบริการที่พึงพอใจ ซึ่งเรามั่นใจในพันธมิตรของเราที่มีประสบการณ์ ความชำนาญ และการให้บริการ”

โดยเฟสแรกเจาะกลุ่มผู้บริหารบริษัทต่างชาติที่มาเปิดสำนักงานในไทย รวมทั้งบริษัทร่วมทุนต่างชาติ ซึ่งจะทำให้ขยายกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้ด้วย และเฟสต่อไป กำลังหารือกับคปภ.ที่จะขอขยายกลุ่มไปยังคนไทยที่มีกำลังซื้อ และสนใจซื้อแผนประกันภัยของบริษัท และยังเป็นการรองรับเออีซีที่จะมีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ บริษัทจะขายผ่านโบรกเกอร์ชั้นนำ 7 ราย ได้แก่ จาดีน ลอยด์ ทอมป์สัน, ล๊อคต้น วัฒนาฯ, บีเอสไอโบรกเกอร์, ไพรม์ เอเชีย คอนซัลติ้ง, อินฟินิตี้ ไฟแนนเชียล โซลูชั่น, อินชัวรันส์เอ็กเซลเลนซ์โบรกเกอร์ และฮาวน์เดน อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ ซึ่งต่างก็มีลูกค้าในมืออยู่แล้วที่จะนำสินค้าของบริษัทไปนำเสนอ โดยคาดว่าจะได้เบี้ยจากโบรกเกอร์ 100 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการขายของบริษัทเอง ให้กับกลุ่มผู้บริหารหอการค้าต่างชาติต่างๆ และสถานทูต ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับบริษัท คาดว่าจะได้เบี้ยจากส่วนนี้อีก 50 ล้านบาท รวมปีแรกของการขายคาดว่าจะได้เบี้ย 150 ล้านบาท จากแผนประกันภัยสุขภาพนี้

ส่วนรายแรกที่เปิดตลาดประกันภัยสุขภาพคนต่างชาติ คือ “แอกซ่า กรุ๊ป” ยักษ์ประกันภัยจากฝรั่งเศส ที่มีแผนบุกตลาดเอเชียอย่างหนัก โดยได้นำสินค้ามาเจาะตลาดไทย ทั้งฝั่งประกันชีวิตและฝั่งประกันวินาศภัย โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า แพ็กเกจประกันชีวิตพ่วงประกันสุขภาพ “คอมพลีท เฮลธ์ โซลูชั่น” คุ้มครองวงเงินค่ารักษาพยาบาลทุกโรคตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 99 ปี วงเงินค่ารักษาพยาบาลต่ำสุด 3 ล้านบาท สูงสุดถึง 100 ล้านบาท แตกต่างจากแผน “อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์คลูซีฟ” ของแอกซ่า ประกันภัยที่วงเงินผลประโยชน์สูงสุดเพียง 93 ล้านบาท และให้ลูกค้าเลือกรับผิดค่าเสียหายส่วนแรกด้วย

“ลูกค้าที่ซื้อแผนประกันภัยของเรา ระดับไฮเอนด์มีประมาณ 10% ซึ่งกลุ่มนี้ 5% เลือกซื้อวงเงินสูงสุดคุ้มครองทั่วโลก ด้วยจุดเด่นของเรา คือ มีเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 2,000 แห่งของแอกซ่า กรุ๊ป ใน 57 ประเทศทั่วโลกให้บริการ และเป็นครั้งแรกที่ทางบริษัทแม่ให้งบโฆษณาเรามา เพื่อมาทำภาพยนตร์โฆษณาโปรโมตแผนประกันภัยสุขภาพในไทย 150 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้”

สอดคล้องกับรายงานข่าวจากบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมจะมีการเปิดตัวโฆษณาชุดใหม่ เพื่อโปรโมตประกันภัยสุขภาพของทั้งแอกซ่าประกันภัย และกรุงไทยแอกซ่าฯ ร่วมกัน ทั้งรูปแบบของสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ บิลบอร์ด และลิฟต์สำนักงาน ซึ่งจะออนแอร์ตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2555 โดยชูจุดเด่นของสินค้า คือ ลูกค้าสามารถเลือกการรักษาทั้งใน และต่างประเทศได้ พร้อมเครือข่ายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแผนประกันภัยสุขภาพ “อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์คลูซีฟ” เปิดขายตั้งแต่ไตรมาสสองที่ผ่านมา มี 4 แผนให้เลือก วงเงินผลประโยชน์คุ้มครองสูงสุด 48 ล้านบาท, 58 ล้านบาท, 74 ล้านบาท และ 93 ล้านบาท อัตราเบี้ยอยู่ที่ 27,000-1.4 ล้านบาท และลูกค้าเลือกรับผิดชอบค่ารักษาส่วนแรกได้ คือ 160,000 บาท, 48,000 บาท และ 16,000 บาท

“กลุ่มเป้าหมายเรา คือ เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารต่างชาติที่มาทำงานในไทย (Expat) ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อ (Mass Affluent) โดยเรามองว่าตลาดประกันภัยสุขภาพในกลุ่มมีกำลังซื้อนี้ ในช่วงปี 2555-2558 หรือ 3 ปีนับจากนี้จะเติบโตสูง เนื่องจากแผนประกันภัยที่เจาะกลุ่มนี้ค่อนข้างมีน้อยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นบริษัทประกันภัย หรือบริษัทประกันชีวิต ในช่วงปลายปีนี้จนถึงปีหน้า 2556 จะเริ่มหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะกลุ่มนี้ยินดีจ่ายเพื่อได้รับความคุ้มครองสูง ถึงจะเป็นตลาดเฉพาะ หรือ Niche market แต่สามารถผลิตเบี้ยประกันภัยได้สูงมาก ดังนั้นบริษัทประกันภัย และประกันชีวิต ที่เข้ามาจับตลาดนี้จะได้เปรียบกว่า”

ด้านผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า บริษัทกำลังศึกษาตลาดกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งในการทำตลาดกลุ่มนี้ต้องมีพาร์ตเนอร์ร่วมกันทำงานกับบริษัท เพื่อเซ็ตเครือข่ายโรงพยาบาลในเครือ หลักๆ ต้องมี 200-300 แห่ง บริการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเครือข่ายโรงพยาบาล เป็นหัวใจสำคัญในการขยายประกันภัยสุขภาพ

“ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งในอนาคตจะมีการเปิดเออีซี จะมีผู้บริหารชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น จำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทต้องทำการศึกษาเพื่อรองรับเออีซีด้วย”

ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัย ต้องกำหนดให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งไม่รู้ความใส่ใจในเชิงสุขภาพของคนต่างชาติมีแค่ไหน ฝรั่งบางกลุ่มเป็นหวัดเล็กน้อย เขาจะไม่เข้ารักษา เพราะเขาคิดว่าการกินยาแก้อักเสบมีผลข้างเคียง เป็นโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ซึ่งบริษัทต้องมาศึกษา เพราะมีผลถึงค่ารักษากรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ด้วย โดยปีนี้ยังออกไม่ทัน น่าจะเป็นปีถัดไป

ที่มา : สยามธุรกิจ