ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ชงแยกกธ.ประกันภัยน้ำท่วม ฝรั่งตัดคุ้มครองภัยธรรมชาติ

ภัยธรรมชาติแยกเป็นกรมธรรม์ต่างหากออกมาแล้ว นำไปทำประกันภัยต่อต่างหาก ไม่รวมกับประกันภัยทรัพย์สินปกติ

ชงแยกกธ.ประกันภัยน้ำท่วม ฝรั่งตัดคุ้มครองภัยธรรมชาติ

ธันวาคม
14

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 10 ธันวาคม 2554 เวลา 13:55 น.

ข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารบริษัทประกันวินาศภัย ได้หารือกันถึงรูปแบบการประกันภัยภัยธรรมชาติในประเทศไทยในปีหน้า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะเป็นแบบไหน เพราะการต่อสัญญาประกันภัยต่อครั้งใหม่ ทางบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ในต่างประเทศ บอกมาแล้วจะยกเว้นภัยธรรมชาติ โดยจะตัดความคุ้มครองภัยธรรมชาติออกจากสัญญาหลักประกันภัยทรัพย์สิน

“แม้ตอนนี้การทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยน้ำท่วมจะสามารถทำได้ ด้วยการทำประกันภัยแบบจำกัดวงเงินความรับผิดสูงสุดหรือซับ ลิมิต (Sub limit) คือจำกัดทุนประกันภัยความคุ้มครองภัยน้ำท่วมไม่เต็มทุนเหมือนในอดีต ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุมัติกรมธรรม์แบบนี้ให้ 90 วัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ถ้าพ้น 90 วันจะทำอย่างไรเพราะตอนนี้แน่ชัดแล้วว่า ผู้รับประกันภัยต่อต่างประเทศขอตัดภัยธรรมชาติออกจากสัญญาหลักแล้ว”

ดังนั้นแนวทางการทำประกันภัยภัยธรรมชาติหลังจากนี้ ควรจะเอาภัยธรรมชาติแยกเป็นกรมธรรม์ต่างหากออกมา เหมือนกับภัยก่อการร้ายโดยเสนอให้สมาคมฯ ร่างกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยธรรมชาติออกมาแล้ว นำกรมธรรม์นี้ไปทำประกันภัยต่อต่างหาก เหมือนกับการทำประกันภัยต่อภัยก่อการร้ายไม่รวมกับประกันภัยทรัพย์สินปกติ

“ความเสียหายจากน้ำท่วมทำให้เราตกเป็นจำเลยของโลก จากเดิมเราไม่อยู่ในแผนที่เสี่ยงมหันตภัยธรรมชาติ พอเจอน้ำท่วมต่างประเทศเขาฟันธงบ้านเราเป็นเขตเรดโซน เหมือนฟิลิปปินส์ที่เจอแผ่นดินไหว เจอไต้ฝุ่น หรืออินโดนีเซียที่เป็นเขตเสี่ยงแผ่นดินไหวเหมือนกัน ตอนนี้ประกันภัยต่อภัยธรรมชาติในบ้านเราเกิดภาวะสุญญากาศ”

เป็นผลมาจากบริษัทซีซีอาร์ (Caiss Centrale de Reassurance SA) ยักษ์ ประกันภัยต่อจากฝรั่งเศส ที่มีมาร์เก็ตแชร์ในประเทศไทยประมาณ 30% ถอนตัวออกไป ทำให้ความสามารถในการรับประกันภัยต่อในประเทศไทยหายไปมาก เพราะรายใหญ่ๆ ที่ยังอยู่อย่างลอยด์สทำธุรกิจในประเทศไทยน้อยมาก มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ส่วนใหญ่เน้นรับประกันภัยพิเศษ เช่น ก่อการร้าย ขณะที่สวิส รีและมิวนิค รี ลดการรับงานในประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดสึนามิ

ต่อข้อถามมีผู้รับประกันภัยต่อรายใหม่ๆ สนใจจะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะสามารถชดเชยความสามารถของบริษัทรับประกันภัยต่อขนาดใหญ่ที่ถอนตัวออกไป รวมถึงที่ลดการรับประกันภัยภัยธรรมชาติในประเทศไทยลงได้หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้รับประกันภัยต่อบางส่วนยังมองประเทศไทยเป็นโอกาส อยากจะเข้ามาจับตลาดเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้รับประกันภัยต่อขนาดกลาง เพราะในอดีตประเทศไทยไม่เคยขาดทุนจากประกันภัยธรรมชาติ ซึ่งการเข้ามาก็ชดเชยได้บางส่วน

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า หลังจากพ้นช่วง 3 เดือนในการทำประกันภัยน้ำท่วมแบบซับ ลิมิต การทำประกันภัยต่อภัยธรรมชาติจะมีปัญหามาก ซึ่งในความจริงบริษัทประกันภัยในประเทศไทย อยากจะรับประกันภัยแต่มีความสามารถไม่พอ ด้วยขนาดของกองทุนที่มีจำกัด โดยธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบมีเงินกองทุน 67,771 ล้านบาท (ณ สิ้นปี 2553) ค่าเสียหายจากน้ำท่วมเป็นหลักแสนล้านบาท จำเป็นต้องใช้ตลาดประกันภัยต่อมารองรับ ดังนั้นหากแยกภัยธรรมชาติออกเป็นมาเป็นกรมธรรม์ต่างหาก จะทำให้การทำประกันภัยต่อง่ายขึ้น ทางบริษัทรับประกันภัยต่อชอบ เพราะเห็นความเสี่ยงมหันตภัยชัดเจน สามารถกำหนดเบี้ยประกันภัยเพียงพอกับความเสี่ยงภัยได้

“ทุกคนอยากอยู่ อยากค้าขาย แต่อยู่ที่ตลาดไทยปรับตัวอย่างไร หากเบี้ยเหมาะสมกับความเสี่ยงก็อยู่ได้ไม่ใช่เก็บเป็น 100 ปีถึงจะเท่ากับค่าเสียหายที่จ่ายไป ถ้าเทียบสัญญาประกันภัยต่อภัยธรรมชาติในบ้านเรา กับสัญญาประกันภัยต่อขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จะไม่เหมือนกัน ของบ้านเราภัยธรรมชาติครอบคลุมน้ำท่วม ลม พายุ แผ่นดินไหว สึนามิ ลูกเห็บ ขณะ ที่สัญญาของโออีซีดีจะรวมภัยแล้ง ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์ ทอร์นาโดด้วย ในเรื่องนี้มีการคุยกับทางบริษัทรับประกันภัยต่อเหมือนกัน คำจำกัดความเรื่องภัยธรรมชาติหมายถึงภัยอะไรจะได้ เป็นมาตรฐาน”

ที่มา : สยามธุรกิจ