ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัย - แบงก์ ระอุชิงเบี้ยท้ายปี

แบงก์แอสชัวรันซ์ เตรียมออกโปรดักต์ทางเลือกใหม่ ย้ำตัวแปรหลักแข่งดูดรายได้ ค่าธรรมเนียม ธปท.เผยค่าคอมมิสชันนายหน้าทะยานไม่หยุด

ประกันภัย - แบงก์ ระอุชิงเบี้ยท้ายปี

กันยายน
5

หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจประกันภัย ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การเติบโตยอดขายประกันภัยผ่านธนาคารในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กรกฎาคม 2555) ยังสูงกว่า 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านบาท แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับใหม่ จากธุรกิจประกันชีวิต 1.3-1.5 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นธุรกิจประกันวินาศภัยซึ่งโตใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 30% หรือประมาณ 1.7 พันล้านบาท ขณะที่อัตราการต่ออายุอยู่ที่ระดับ 80-85% ที่สำคัญช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าคอมมิสชัน) จากการขายที่ยังโตต่อเนื่อง ส่วนทหารไทยเองก็ยังเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 2-3 ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมดของธนาคาร

สำหรับกลยุทธ์ของธนาคาร จะเน้นขายผลิตภัณฑ์จากลูกค้าเดิม หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ต่อรายให้มากขึ้น เพิ่มความครบวงจรในการให้บริการ จากปัจจุบันที่สามารถดึงลูกค้าเข้ามาซื้อประกันได้แล้ว 3-4% ของฐานลูกค้ารายย่อยธนาคาร ที่ปัจจุบันมีจำนวน 5.19 ล้านคน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้ารายใหม่ คู่กับลูกค้าเดิมทั้งลูกค้าเงินฝากและลูกค้าสินเชื่อ

"ช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ธนาคารมีแผนออกผลิตภัณฑ์ 2 รูปแบบ โดยแบบแรกจะเน้นสิทธิประโยชน์ทางภาษี เน้นจ่ายสั้นคุ้มครองยาวเป็นหลัก อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองตลาด ซึ่งคาดจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ส่วนแบบที่สองจะเน้นลูกค้าฐานอายุ 40-65 ปี ที่ต้องการลงทุนพ่วงกับความคุ้มครองสุขภาพเพิ่มเติม รวมทั้งมีสิทธิพิเศษทางภาษี รวมถึงกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากบริษัทประกันภัย เน้นเงินคืนระหว่างทางและครบสัญญามีเงินคืน คาดเปิดตัวได้ราวต้นเดือนกันยายนนี้"

ขณะที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเงินฝากและการลงทุนและประกันภัยธนพัทธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การขยายตัวของธุรกิจประกันภัยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ เมื่อเทียบครึ่งแรกของปีนี้กับครึ่งแรกของปีก่อน มีอัตราการเติบโตสูงถึง 40% และเชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นปี แต่ละธนาคารน่าจะเตรียมออกแบบกรมธรรม์ประกันภัย ที่เน้นให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีออกมาชิงตลาดมากขึ้น ส่วนธนาคารมีแผนที่จะออกแคมเปญที่เน้นสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษี ทั้งประกันออมทรัพย์ สะสมทรัพย์และแบบบำนาญ ผ่านพันธมิตรหลักอย่างบริษัท อลิอันซ์ อยุธยาฯ และบริษัทไทยประกันชีวิตฯ ที่รับงานโซนการขายผลิตภัณฑ์เขตพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดออกจากกันอย่างชัดเจน

สิ่งสำคัญที่ทำให้ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด ยังมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ขยายตัวต่อเนื่อง หากไม่นับรวมค่าธรรมเนียมจากเงินฝาก หรือสินเชื่อรายได้ค่าธรรมเนียม ถือว่าติด 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของธนาคาร โดย 80% มาจากธุรกิจประกันชีวิต และ 20% มาจากธุรกิจประกันภัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการปรับลดค่าธรรเนียมการเป็นนายหน้าขายประกันภัยลง อาจกระทบกับแบงก์โดยรวมบ้าง แต่เรามีการปรับตัวโดยเร่งขายมากขึ้น เพื่อรักษาสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมให้อยู่ในระดับเท่าเดิม

ด้านรองกรรมการผู้จัดการบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางธุรกิจประกันภัยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า บริษัทยังเน้นทำตลาดผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ต่อไป โดยผลิตภัณฑ์ที่เน้นทำตลาด รวมถึงปรับปรุงให้เหมาะสมกับตลาด และตรงตามความต้องการของลูกค้าใน 2 ผลิตภัณฑ์หลัก คือ ตัวประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) และ ประกันภัยสุขภาพ (Health) เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางช่องทางนี้สูงถึง 17% และ 10% ตามลำดับ และในเชิงอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยแล้ว ยังเพิ่มขึ้นถึง 18% เป็นต้น ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่าอัตราการเติบโตของประกันภัยจะสูงขึ้น ซึ่งบริษัทเองก็ยอมรับตรงนี้ว่าช่องทางแบงก์เป็นอีกช่องทางที่สำคัญมาก

ตัวเลขรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์พบว่า ในไตรมาส 2/55 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มีรายได้ค่าธรรมเนียมสูงถึง 3.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.12% หรือ 1.29 พันล้านบาท จากไตรมาส 1/55 อยู่ที่ 3.14 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้น 12.55% หรือ 3.65 พันล้านบาท จากระดับ 2.91 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยรายได้หลักที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องจับตาเป็นพิเศษมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้า (นายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และนายหน้า จากการเป็นตัวแทนขายประกันภัย) ซึ่งหากเทียบตัวเลขในรอบ 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตขึ้น โดยไตรมาสแรกของปี 2554 เติบโต 2.4 พันล้านบาท, ไตรมาสที่สอง เติบโต 4.9 พันล้านบาท ไตรมาสสามเติบโต 4พันล้านบาท ไตรมาสสี่ของปี 2554 เติบโต 3.6 พันล้านบาท ส่วนไตรมาสหนึ่งปี 2555 เติบโต 4.4 พันล้านบาทและไตรมาสสอง 5 พันล้านบาท

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ