ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

สกัดฟอกเงินผ่านประกันภัย กฎใหม่บีบบริษัทเข้มลูกค้า

บริษัทประกันภัยจัดเป็นสถาบันการเงิน การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงลูกค้า บริษัทประกันภัยต้องทำตามอย่างครบถ้วน

สกัดฟอกเงินผ่านประกันภัย กฎใหม่บีบบริษัทเข้มลูกค้า

กันยายน
4

การประกอบธุรกิจประกันภัยในยุคนี้ต้องเจอกับปัจจัยท้าทายใหม่ๆ อยู่เป็นระยะ อย่างกฎหมายใหม่ๆ ที่ทางหน่วยงานกำกับดูแล คือ สำนักงานคณะกรรมการและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทยอยนำออกมาบังคับใช้ควบคุมธุรกิจยกระดับสู่มาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รับมือการเปิดเสรี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายความมั่นคงทางการเงิน การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) หรือแม้แต่กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนการเงินแก่ก่อการร้าย ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่คลุมมาถึงธุรกิจประกันภัยด้วย

“เนื่องจากบริษัทประกันภัย จัดเป็นสถาบันการเงินต้องทำตามกฎหมายนี้ ล่าสุด ปปง. เพิ่งออกกฎกระทรวงใหม่ว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ที่เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทประกันภัยทุกแห่งต้องทำตามอย่างครบถ้วน หากใครไม่ทำตาม กรรมการบริษัทที่มีอำนาจเกี่ยวข้องต้องได้รับโทษตามกฎหมาย กฎกระทรวงฉบันนี้ออกมาล้อกับ พ.ร.บ. ต่อต้านฟอกเงิน และสนับสนุนการก่อการร้ายฉบับใหม่ที่กำลังแก้ไข ซึ่งออกมาบังคับใช้ก่อนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ปีหน้า“ ประธานคณะกรรมการ กฎหมายและกฎระเบียบ สมาคมประกันวินาศภัยกล่าว

กฎใหม่ของปปง. กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่ง ต้องประกาศใช้นโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนก่อการร้าย ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว และประกาศใช้คู่มือแนวปฏิบัติในการจัดให้ลูกค้าแสดงตน (KYC) และกระบวนการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (CDD)

นโยบายดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วน 1. ต้องพิสูจน์ตัวตนลูกค้าทุกรายที่ทำประกันภัย ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดการความเสี่ยง จัดกลุ่มความเสี่ยงสูง-ต่ำ กำหนดทุนประกันภัยตั้งแต่ 700,000 บาทขึ้นไป ต้องมีการจัดกลุ่มความเสี่ยง หากไม่ใช่พฤติกรรมที่น่าสงสัยไม่ต้องรายงาน ปปง.แต่หากทุนประกันภัยต่ำกว่า 700,000 บาท แต่มีเหตุอันน่าสงสัย เช่น ซื้อรถคันละ 600,000 บาท โดยใช้ชื่อเดียวกันมาทำประกันภัยรถยนต์ ต้องรายงาน ปปง. เป็นต้น เพื่อความเข้มข้นในการตรวจสอบ จากเดิมกำหนดแค่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปต้องรายงาน ปปง. 2. ต้องตรวจสอบฐานข้อมูลของ ปปง. ว่าลูกค้าในบัญชีของบริษัท มีชื่อควรต้องสงสัยเป็นผู้ฟอกเงิน หรือให้เงินสนับสนุนการก่อการร้ายหรือไม่ 3. ให้ตัวแทนและนายหน้า กระทำการเหมือนบริษัทประกันภัย คือต้องช่วยพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า ก่อนรับประกันภัยแทนบริษัทประกันภัย ได้แจ้งไปยังสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยแล้วและ 4. เป็นเรื่องของการประกันภัยต่อ ต้องตรวจสอบผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ที่ทำธุรกรรมกับบริษัทว่ามีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือผู้ลงทุนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือ สนับสนุนการเงินแก่การก่อการร้ายหรือไม่

“ตอนนี้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ขาดการเอาจริงเอาจัง ในการออกกฎหมายต่อต้านฟอกเงิน และการให้เงินสนับสนุนการก่อการร้ายของโลก การออกกฎหมายใหม่มาทำให้ไทยหลุดออกจากบัญชีนี้เร็วขึ้น ซึ่งประกันภัยเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมาย ที่ว่าแม้ธุรกิจประกันภัยอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้างแต่คุ้มค่า”

ต่อข้อถามถึงแนวโน้มการฟอกเงินผ่านธุรกิจประกันวินาศภัย รวมถึงการให้เงินสนับสนุนผู้ก่อการร้าย กล่าวว่า มีน้อยมากต้องมีทุนประกันภัยที่ใหญ่มาก แล้วต้องมีธุรกรรมตั้งแต่เริ่มต้นทำประกันภัยเป็นเหตุอันน่าสงสัย เช่น ซื้อรถซูเปอร์คาร์ 10 คัน แล้วทำประกันภัยรถยนต์พร้อมกัน เป็นต้น

นายกสมาคมประกันวินาศภัย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กฎหมายฟอกเงินทำให้บริษัทประกันภัยต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะเวลารับประกันภัยต้องตรวจสอบข้อมูลลูกค้าทุกราย และต้องรายงานข้อมูลกับ ปปง. ซึ่งการฟอกเงินผ่านธุรกิจประกันวินาศภัยแทบจะไม่มี แนวโน้มจะเกิดน้อยมาก แต่ในฐานะเป็นสถาบันการเงินต้องปฏิบัติตาม

ส่วนประกันชีวิต ข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า การดำเนินการของสมาคมไม่ต่างจากประกันวินาศภัยนัก เพราะใช้แนวนโยบายตลอดจนตารางความเสี่ยง และแบบรายการแสดงตนเหมือนกัน โดยทางสมาคมได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้บริหาร ระดับกรรมการผู้จัดการบริษัทประกันชีวิตทุกแห่งทราบแล้ว ถึงนโยบายด้านการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ที่ทุกบริษัทจะต้องมีตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่ ปปง.ออกมาบังคับใช้

“เกณฑ์ของ ปปง.เข้มงวดมากขึ้น ของใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ ต้องตรวจสอบลูกค้าทุกรายที่มาซื้อประกันชีวิต โดยอาจจะต้องเสียเวลาในการตรวจสอบกับฐานข้อมูลที่ทางปปง.กำหนด เพื่อไม่ให้บริษัททำธุรกรรมกับลูกค้าที่สนับสนุนก่อการร้าย ก็อาจจะมีผลในแง่ของการพิจารณารับประกันภัยในบางราย ที่อาจต้องใช้เวลามากขึ้นเช่น 2-3 วัน ส่วนเกณฑ์เดิมยังคงใช้อยู่ เช่น การให้รายงานธุรกรรมหรือการซื้อประกันภัย ที่มีการชำระเบี้ยตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป”

ธุรกิจประกันชีวิตไม่ได้มีผลกระทบมากนักจากเกณฑ์ใหม่ เพียงแต่ทำให้การพิจารณารับประกันภัยต้องเข้มงวดมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้นเท่านั้น แต่ปกติแล้วการพิจารณาอนุมัติกรมธรรม์ อย่างเร็วก็ใช้เวลา 1-2 วันอยู่แล้ว

ที่มา : สยามธุรกิจ