ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

รื้อ ‘กองทุนภัยพิบัติ’ อีกรอบ ลดเบี้ยประกันภัย-เพิ่มคุ้มครองอีกแล้ว

เป้าหมายอัตราเบี้ยประกันภัยลดลง ปี 2556 ระบบเศรษฐกิจเติบโตไปได้ดี ผู้ต้องการทำประกันภัยมากขึ้น

รื้อ ‘กองทุนภัยพิบัติ’ อีกรอบ ลดเบี้ยประกันภัย-เพิ่มคุ้มครองอีกแล้ว

มกราคม
9

กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ทั้งบทบาทและเงื่อนไขการประกันภัย เมื่อคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2556 ในโอกาสที่กองทุนฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ในเดือนมีนาคม โดยเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า หลายอย่างที่กองทุนได้ดำเนินไปในช่วงที่ผ่านมา ทั้งรูปแบบกรมธรรม์ การคิดเบี้ยประกันภัย จะค่อยๆ มีการปรับ

รวม “น้ำท่วม-ภัยพิบัติ” กรมธรรม์เดียว

อย่างตอนน้ำท่วมกองทุนฯ แยกภัยน้ำท่วมออกเป็น 2 ภัย คือ ภัยธรรมชาติทั่วไป และภัยพิบัติ โดยภัยพิบัติคือ ภัยที่บริษัทประกันภัยรับไม่ไหว ความเสียหายมหาศาล ขณะที่ภัยน้ำท่วมทั่วไปรับได้ ความเสียหายอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เมื่อ 2 ภัยแยกจากกัน ทางคปภ. พยายามให้ความรู้ ความชัดเจน กับประชาชนมาตลอด แต่จากการเดินทางไปตามภูมิภาคต่างๆ ประชาชนยังเข้าใจว่า ทั้ง 2 ภัยเป็นภัยเดียวกันอยู่

“ผมกลับมา ได้รวบรวมข้อมูล จะเริ่มวิเคราะห์สิ่งที่เราได้ทำไปในกองทุนฯ จะเริ่มปรับใหม่อย่าง 2 ภัยที่ว่า ถึงเวลาจะรวมเป็นภัยเดียว จะทำให้ความสับสนโดยเฉพาะในภูมิภาค เมื่อทำประกันภัยพิบัติแล้ว ต้องประกันน้ำท่วมด้วยจะได้หมดไป หลายอย่างอยู่ระหว่างดำเนินการ ผมได้รวบรวมข้อมูลไว้ จะหารือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย เรามีคณะกรรมการด้านประกันภัยของกองทุนฯ อยู่ จะเข้าไปวิเคราะห์รายละเอียด ดูถึงเวลาหรือยัง ทำอะไรบ้างเพื่อปรับกลไก ซึ่งครึ่งหนึ่งเคยทำไว้เพื่อให้กลไกทำงาน เมื่อกลไกทำงานสิ่งที่ทำไว้อาจจะกลายเป็นส่วนเกิน หรือเป็นอุปสรรคต้องพยายามปรับ”

ตั้งธง กดเบี้ยลงอีก

นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังมีเป้าหมายทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยลดลงอีก เพราะมองว่าในปี 2556 ระบบเศรษฐกิจเติบโตไปได้ดีขึ้น จำนวนผู้ต้องการทำประกันภัยมากขึ้น ความกังวลเรื่องน้ำท่วมแทบไม่มี ภาพสะท้อนเรื่องความมั่นใจเหล่านี้ มีส่วนสำคัญผลักดันเบี้ยประกันภัยลดลงอีก ที่ผ่านมาผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ในต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาแข่งกันมากขึ้น แข่งกันนำเสนออัตราเบี้ยประกันภัยจนต้องปรับเงื่อนไข บริษัทใดสามารถเสนอความคุ้มครองภัยพิบัติเบี้ยประกันภัยต่ำกว่ากองทุน 20% สามารถรับภัยไว้เองได้ไม่ต้องส่งเข้ากองทุนฯ

“ตอนนี้กองทุนฯ กดเบี้ยประกันภัยลงไป 20% ผู้รับประกันภัยต่อต่างประเทศ เข้ามาแข่งขันกันในอัตราเบี้ยต่ำกว่า 20% นี่เป็นแถบที่เรามองในอนาคต เราจะขยายแถบให้กว้างขึ้น กดลงไปอีก คือสิ่งที่เรามองไปข้างหน้าน่าจะทำได้ อัตราเบี้ยประกันภัยจะลดลงถึงระดับไหนตัวแปรสำคัญคือ 1. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ถ้ายิ่งสำเร็จมาก อัตราเบี้ยจะลงอีก เพราะความมั่นใจมีมากขึ้น 2. ปีนี้น้ำไม่ท่วม ถ้าปีหน้าไม่ท่วมอีก จะกดลงได้อีกและ 3. ถ้ามีการแข่งขันเข้ามามากขึ้น ความมั่นใจของประชาชนมากขึ้น จะช่วยได้ ส่วนจะลงเท่าไหร่ตอบยาก”

ซื้อประกันภัยต่อ แม้รับเสี่ยงน้อยลง

ถามว่าถึงตอนนี้ผลงานของกองทุนฯ เป็นอย่างไรบ้าง เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ณ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา กองทุนฯ มียอดขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ 331,317 ฉบับ ทุนประกันภัย 3.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์คุ้มครองสำหรับครัวเรือน เอสเอ็มอี และภาคอุตสาหกรรมมีบ้าง ซึ่งตอนสิงหาคมและกันยายน ประเมินถึงสิ้นปี ทุนประกันภัยน่าจะอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อรีอินชัวเรอส์ต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาแข่งกันมากขึ้น ปัญหาเรื่องไม่มีใครรับประกันภัยหมดไป อีกทั้งยังแข่งขันกันรับประกันภัยในอัตราเบี้ยประกันภัยต่ำกว่า 20% โดยไม่ส่งเข้ากองทุน

ขณะที่ฝั่งผู้เอาประกันภัยเองมีความมั่นใจมากขึ้น ความต้องการทำประกันภัยน้อยลง ถ้าตอนนี้จ่ายเบี้ยประกันภัยที่ระดับกองทุนฯ กำหนดตอนแรก อาจจะแพงเกินไป เมื่อกลไกเริ่มทำงานทุนประกันภัยที่เข้ามาที่กองทุน อาจจะไม่ถึง 8.6 หมื่นล้านบาท ส่วนจะถึง 5 หมื่นล้านบาทหรือไม่ ถ้าอัตราเติบโตเป็นไปเหมือนหลายเดือนที่ผ่านมาก็ถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่ช่วงนี้เลยหน้าน้ำ ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เดือดร้อน ผู้รับประกันภัยแข่งมากขึ้น งานที่เข้ามาที่กองทุนฯ ไม่เยอะ อาจจะไม่ถึง

ต่อข้อถามยังต้องซื้อประกันภัยต่ออยู่หรือไม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นกองทุนฯ เร่งหาที่ปรึกษาประกันภัยต่อ ซึ่งคัดเลือกแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอให้ข้อมูลกับที่ปรึกษา เพื่อมานำเสนอ แต่ตอนนี้เข้าเดือนพฤศจิกายน หน้าน้ำหมดแล้วเป็นหน้าแล้ง ความกดดันลดน้อยลง ถ้าเร่งจะเสียเบี้ยประกันภัย ถ้าดูทุนประกันภัย ณ ตอนนี้ 3.7 หมื่นล้าน กองทุนมีเงิน 5 หมื่นล้าน ยังบริหารความเสี่ยงได้ ถ้าเกิดน้ำท่วมทั่วประเทศไม่ต้องกังวลเท่าไหร่ จุดที่ทำให้ต้องเร่งหาประกันภัยต่อคือ รับทุนประกันภัยเกิน 5 หมื่นล้าน เกินกว่าเงินที่มี

“การหาผู้รับประกันภัยต่อ เรายังดำเนินอยู่ไม่หยุด เพื่อเตรียมความพร้อม ที่ผ่านมาทำในส่วนของในประเทศ การไปเอาประกันภัยต่อเป็นเรื่องต่างประเทศ เมื่อแต่งตั้งที่ปรึกษาเราก็ควรจะรับฟังเขา”

ปรับตำแหน่งใหม่ รับงานอื่นรัฐ

เป้าหมายของกองทุนฯ ตั้งขึ้นมา ไม่ใช่ขายกรมธรรม์ให้ได้มากๆ แต่เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบประกันภัย เมื่อกลไกทำงานเข้าใกล้สภาพปกติมากเท่าไหร่ บทบาทของกองทุนฯ จะลดน้อยลง กองทุนจะ “Reposition” หรือวางตำแหน่งตัวเองใหม่ ในการเข้าไปมีส่วนเสริมกลไกในอุตสาหกรรมประกันภัยในด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น เริ่มมองภัยพิบัติด้านเกษตรกรรม ซึ่งกองทุนฯ เริ่มเข้าไปช่วยด้านนี้

“ต่อไปหน้าที่ของกองทุนฯ จะเป็นอย่างไร ต่อไปเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กลไกต่างๆ ที่กองทุนภัยพิบัติเข้าไปมีบทบาท ในอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่มีความจำเป็นต้องเข้าไป กลไกเหล่านั้นเราจะเข้าไปวิเคราะห์ในแต่ละสิ่ง ค่อยๆ ปรับกลไกนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกรมธรรม์ เงื่อนไขต่างๆ หรือเบี้ยประกันภัย เพื่อให้กองทุนฯ ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ตามปัจจัยแวดล้อมที่ได้เปลี่ยนไป คงจะเห็นภาพออกมาในเวลาถัดไปเรื่อยๆ อนาคตจะขยายความคุ้มครองของกองทุนฯ มั๊ยเราเริ่มต้นประกันภัย 3 ภัย ตอนนี้ขยายไปภัยพิบัติภาคเกษตรกรรม ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล”

ที่มา : สยามธุรกิจ