ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

อัดงบดันยอดซื้อประกันภัยพิบัติ หลังเห็นสัญญาณแห่ซื้อ

บอร์ดกองทุนเตรียมแผนลงงบพีอาร์ 40 ล้าน เดินสายโรดโชว์ทั่วประเทศ หลังจากเปิดขายประกันภัยพิบัติยอดขายไม่กระเตื้อง ยอดซื้อรายย่อยแค่ 5 หมื่นราย

อัดงบดันยอดซื้อประกันภัยพิบัติ หลังเห็นสัญญาณแห่ซื้อ

สิงหาคม
27

พร้อมจับสัญญาณหาก 4 เดือนสุดท้าย โรงงาน-นิคม เฮโลซื้อประกันภัยพร้อมกัน สั่งเดินหน้าซื้อประกันภัยต่อหมื่นล้านทันที โต้ยืนยันกองทุนไม่มีล้มหลังถูกกระแสวิจารณ์ คาดกองทุนอาจล่มก่อนกำหนด

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานกองทุนประกันภัยพิบัติ เปิดเผยถึงสถานการณ์การซื้อประกันภัยภายใต้กองทุนว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนมีแผนที่จะกระตุ้นกำลังซื้อให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้แผนการจัดกิจกรรมโรดโชว์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ และยังเป็นแนวคิดที่ทำต่อเนื่อง หลังจากกระทรวงการคลังได้จัดสัญจรก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะรายที่ใกล้จะต้องต่อสัญญาประกันภัย ทั้งนี้ในส่วนของแผนกระตุ้นความเชื่อมั่นและกำลังซื้อนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์เพื่อปรับแผน พร้อมทั้งให้ข้อมูลกับทุกภาค ให้เข้าใจถึงความสำคัญของการมีระบบประกันภัย เข้ามารองรับธุรกิจบ้านและทรัพย์สิน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดจ้างประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งจะแยกออกจากงบประมาณในการบริหารจัดการ ที่ให้กับบริษัทไทยรับประกันภัยต่อฯ หรือไทยรี เข้ามาบริหาร 60 ล้านบาทอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันคำครหา

"ตอนนี้มีจำนวนผู้ที่ซื้อประกันภัยเข้ามาแล้วประมาณ 5 หมื่นกรมธรรม์ หากเป็นรายย่อยบ้านและที่อยู่อาศัย ทุนประกันภัยหลักอยู่ที่ 1 แสนบาท ซึ่งแผนงานจากนี้เราจะเน้นเอสเอ็มอี และรายใหญ่เป็นพิเศษ ที่เสียหายหนักจากปีที่ผ่านมา คาดว่าทุนประกันภัยรายใหญ่ใกล้เคียง 4-5 แสนล้านบาท"

กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งสัญญาณที่น่าจะสร้างความมั่นใจกับบริษัทประกันภัยต่อก็คือ แผนสนับสนุนให้ 7 นิคมอุตสาหกรรม สร้างแผนป้องกันน้ำได้สำเร็จ ซึ่งล่าสุดคืบหน้าก่อสร้างไปกว่า 80% และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในตุลาคมนี้ นอกจากนี้คณะกรรมการกองทุน กำลังจับตาภาคอุตสาหกรรมเป็นพิเศษว่าต้องการอะไรเพิ่มเติม เพื่อเป็นแรงจูงใจ หรือสร้างความมั่นใจให้โรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่เสียหายหนักจากน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแหล่งความเสียหายเชิงทุนประกันภัยราว 4 แสนล้านบาท เข้ามาซื้อประกันภัยภายใต้กองทุน

"สัญญาณที่เรามองเห็นว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะเดือนกันยายน-ตุลาคม ก็คือการที่โรงงานหลั่งไหลเข้ามาทำประกันภัยพร้อมกัน จะมีตั้งแต่ระดับ 5,000 ล้านบาทไปจนถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทุนประกันภัยเบื้องต้นหากเกิน 2-3 แสนล้านบาทแล้ว ก็พร้อมที่จะส่งงานให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศทันที"

อย่างไรก็ตาม มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ 3-4 เดือนสุดท้าย ทุนประกันภัยของรายใหญ่จะเข้ามาสูง ตั้งแต่หลักพันล้านบาทไปจนถึงหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นการหาประกันภัยต่อจึงอยู่ในแผนการทำงานแล้ว โดยคณะกรรมการกองทุน เหลือเวลาในการหาบริษัทประกันภัยต่อไม่เกิน 5 สัปดาห์ แต่ขณะนี้จากการหารือกับต่างประเทศนั้น เริ่มมั่นใจและพร้อมที่จะเข้ามารับประกันภัยต่อในไทยมากแล้ว

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา 3-5 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ สำหรับเรื่องเงินประเดิมกองทุนนั้น เบื้องต้นรัฐบาลได้ให้ความมั่นใจ โดยการกันเงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ดังนั้นหากคณะกรรมการกองทุนมองว่าช่วงไหนจำเป็น ก็สามารถผันเข้ามาซื้อประกันภัยต่อได้ทันที โดยไม่ต้องขอมติเห็นชอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก ส่วนความกังวลเรื่องกองทุนอาจถูกล้มเลิก เนื่องจากมีจำนวนผู้ทำประกันภัยน้อยนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะกองทุนจะยังทำหน้าที่ต่อไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อผลักดันให้ระบบประกันภัยเข้าสู่ภาวะปกติ

ด้านกระทรวงการคลังระบุว่า เบื้องต้นทางชุดคณะอนุกรรมการกองทุน เตรียมสรุปตัวเลขประมาณการการซื้อประกันภัยใหม่อีกครั้ง เนื่องจากความต้องการต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่ง 4 เดือนนับจากนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า จำนวนกรมธรรม์และทุนประกันภัยต่อรายจะเข้ามาเท่าใด โดยข้อมูลเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพของกองทุน เพราะไม่มีข้อมูลว่าควรจะซื้อประกันภัยต่อ เพื่อรองรับทุนประกันภัยที่เหมาะสมในระดับเท่าใดกันแน่

"หลังจากเริ่มเปิดขายไปแล้ว 1-2 เดือน กลับพบว่าขนาดทุนประกันภัยของเอสเอมอี และโรงงาน-นิคมอุตสาหกรรมมีน้อยมาก เป็นผลจากความกังวลกับการเกิดภัยธรรมชาติที่ลดลง ทำให้ชะลอการซื้อประกันภัยออกไป ดังนั้นระยะ 4 เดือนหลังจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่กองทุนจะต้องบริหารอย่างมีแบบแผน และต้องทำประกันภัยต่อ 100% เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อกองทุน"

ขณะที่ข่าวจากคณะกรรมการกองทุนประกันภัยพิบัติ ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ คณะกรรมการจะมีข้อมูลสรุปที่ชัดเจน ทั้งจำนวนรายที่เข้ามาซื้อ รวมถึงได้ที่ปรึกษา รี อินชัวเรอร์แน่นอน เนื่องจากใกล้ช่วงภัยน้ำท่วมปลายปี และเชื่อว่าในช่วง 2 ปี กองทุนยังมีความจำเป็นและอยู่รอดได้ เพียงแต่กองทุนจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับประกันภัย และการบริหารความเสี่ยงของแต่ละประเภทให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นฐานปี 2556 ต่อไป

รายงานล่าสุดจากบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือไทยรี สรุปว่า ถึงสิ้นปีนี้จะมีสัดส่วนกรมธรรม์ในกลุ่มภาคครัวเรือน 50% ธุรกิจเอสเอ็มอี 10% และอุตสาหกรรม 10-20% โดยที่ทุนประกันภัยส่วนใหญ่อยู่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมใกล้เคียง 2-3 แสนล้านบาท แต่จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยปีก่อนอยู่ที่ 0.01% และแถมคุ้มครอง ซึ่งได้ปรับอัตราเบี้ยเพิ่มเป็น 1-2% ทำให้ปีนี้อาจไม่ได้ตามเป้าหมายกองทุน ที่จะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีทุนประกันภัยภายใต้กองทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย คปภ.และกองทุน จะเตรียมจัดโรดโชว์ทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจดึงคนซื้อประกันภัยในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ