ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยระส่ำ เงินชอร์ต ‘รี’ ยื้อเคลมน้ำท่วม

วงเงินสินไหมทดแทนประกันภัยเยอะมาก บริษัทประกันภัยไม่สามารถสำรองจ่ายได้ ต้องเร่งรัดจากรีอินชัวเรอส์มาจ่ายให้โดยเร็ว

ประกันภัยระส่ำ เงินชอร์ต ‘รี’ ยื้อเคลมน้ำท่วม

พฤษภาคม
5

โดย ที่มา : สยามธุรกิจ วันที่ 28 เมษายน 2555 เวลา 00:00 น.

ในที่สุดการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ในต่างประเทศระดมมาจ่ายให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา ก็เกิดปัญหาตามที่หลายฝ่ายกริ่งเกรงว่า รีอินชัวเรอส์อาจจะจ่ายช้ากว่าปกติ เพราะค่าเสียหายของธุรกิจประกันภัยครั้งนี้มหาศาลมากประมาณ 450,000 ล้านบาท ราว 90% ทำประกันต่อกับต่างประเทศไว้ ซึ่งปีที่ผ่านมารีอินชัวเรอส์เจอภัยพิบัติจากทั่วโลก อีกทั้งยังมีประเด็นรีอินชัวเรอส์เจ้าใหญ่ที่มีส่วนแบ่งในไทยมากถอนตัวออกไปอีก ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ข่าวจากสมาคม ประกันวินาศภัยให้ข้อมูลว่า ขณะนี้บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศส่วนใหญ่รวมถึงบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือไทยรี ค่ายรับประกันภัยต่อหนึ่งเดียวของไทยชะลอการจ่ายสินไหมทดแทนน้ำท่วมให้กับบริษัทประกันภัย ทั้งบริษัทประกันภัยไทยและบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่เรียกร้องสินไหมทดแทนน้ำท่วมเข้า ไปแล้วยังไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไร

“สมาคมฯได้รับแจ้งจากบริษัทประกันภัยหลายแห่งที่เรียกเก็บไปที่รีอินชัวเรอส์แล้วเขาไม่จ่าย เรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงที่รีอินชัวเรอส์ชะลอการจ่ายเพราะอะไร ไม่รู้ว่าเขาคิดยังไงต้องลงไปดู”

อย่างไรก็ดี ทางสมาคมฯได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งติดตามข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไรเพื่อสร้างความเข้าใจกับทางรีอินชัวเรอส์และบริษัทประกันภัย ซึ่งคณะทำงานได้ประชุมนัดแรกกันไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้นพอจะสรุปเหตุผลคร่าวๆ ที่รีอินชัวเรอส์ไม่จ่ายสินไหมทดแทนให้น่าจะมีอยู่ 3-4 ข้อ คือ เนื่องจากค่าสินไหมทดแทนครั้งนี้วงเงินเยอะมากจึงต้องการตรวจสอบมูลค่าความเสียหายที่ถูกต้อง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการสำรวจภัยและเอกสารที่ใช้ประกอบการเรียกร้องสินไหมทดแทนครบถ้วนหรือไม่ ต้องขอเอกสารอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่”

ภายหลังการประชุม คณะทำงานฯได้กำหนดแผนการทำงาน 3 ข้อ คือ 1. ขอข้อมูลอัพเดตการเรียกร้องสินไหมทดแทนจากบริษัทสมาชิก ทั้งสินไหมทดแทนที่ทางรีอินชัวเรอส์จ่ายมาแล้วเท่าไหร่ ค้างจ่ายอยู่อีกเท่าไหร่ สาเหตุที่ชะลอจ่ายเพราะอะไร 2. ออกแบบเหตุผลที่รีอินชัวเรอส์ไม่จ่ายฟังขึ้นหรือไม่ รีอินชัวเรอส์อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมอะไรบ้าง สามารถหาให้ได้หรือไม่ และ 3. ตัดสินใจวิธีดำเนินการเพื่อให้รีอินชัวเรอส์ชำระสินไหมให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทางคณะทำงานฯ จะเชิญผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจของบริษัทประกันภัยได้รับผลกระทบ มาหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เอารายละเอียดข้อมูลต่างๆ ในการเรียกร้องสินไหมทดแทนกับรีอินชัวเรอส์มาพูดคุยกัน เพื่อหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาให้รีอินชัวเรอส์จ่ายสินไหมทดแทนให้เร็วที่สุด

“คงต้องมีช่วงเวลาในการตรวจสอบข้อมูล หารายละเอียดเพิ่มเติม ยอมรับว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาสูญญากาศทางรีอินชัวเรอส์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายเคลม ถ้าเราได้ข้อมูลมาเราจะรู้ปัญหาคืออะไร สามารถประเมินยอดสินไหมค้างจ่ายได้เท่าไหร่ ตอนนี้เราไม่รู้จำนวนสินไหมทดแทนค้างจ่าย เพราะบริษัทประกันภัยไม่ได้แจ้งตัวเลขการจ่ายมาที่สมาคมฯ เขารายงานไปที่คปภ. คณะทำงานชุดนี้เป็นคนละชุดกับที่เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ (คปภ.) เคยมีดำริให้ตั้งขึ้น”

การที่รีอินชัวเรอส์ชะลอจ่ายไม่ได้แปลว่ารีอินชัวเรอส์จะเบี้ยวหรือชักดาบ ทั้งบริษัทประกันภัยและรีอินชัวเรอส์ต่างเจอเหตุการณ์ที่ผิดธรรมชาติ น้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของธุรกิจประกันภัยไทย นับแต่ก่อตั้งมา 70 ปีความเสียหายครั้งนี้มโหฬารมาก

“เรื่องนี้ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกับผู้เอาประกันภัยอาจจะได้รับเงินชดเชยช้า เพราะวงเงินสินไหมทดแทนที่ค้างจ่ายอยู่รีอินชัวเรอส์เยอะมาก บริษัทประกันภัยไม่สามารถสำรองจ่ายให้ก่อนเหมือนที่เคยทำได้ จำเป็นต้องเร่งรัดจากรีอินชัวเรอส์มาจ่ายให้โดยเร็ว ธงของสมาคมคือลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัยที่เสียหายต้องไก้รับเงินชดใช้สินไหมทดแทนโดยเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้คุยกับกับคปภ.เราต้องคุยกันในสมาคมเพื่อแก้ปัญหากันก่อน”

นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ทางรีอินชัวเรอส์ขอข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจความเสียหายน้ำท่วมเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัย เฉพาะลูกค้ารายใหญ่ที่เสียหายมากไม่ใช่ทุกเคสจากเดิมไม่ได้ขอข้อมูลมากขนาดนี้ อย่างลูกค้าที่มีเครื่องจักรเสียหายสิ้นเชิง ทางรีอินชัวเรอส์จะมีคำถามทำไมต้องจ่ายสิ้นเชิง ความเสียหายถึงระดับไหน ซ่อมได้หรือไม่ บริษัทต้องส่งข้อมูลให้มากขึ้นเพราะค่าเสียหายครั้งนี้มีจำนวนมาก

“เมื่อเร็วๆ นี้เรามีหนังสือถามไปยังสมาชิกมีปัญหา อุปสรรคในการเรียกร้องสินไหมทดแทนจากรีอินชัวเรอส์หรือไม่ และอยากให้สมาคมเข้าไปมีบทบาทเรื่องนี้อย่างไร สมาชิกก็ตอบมาบ้างแล้ว ส่วนคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูล ติดตามปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในการเรียกค่าสินไหมทดแทน บทบาทของสมาคมคงจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางกระจายข้อมูลให้กับสมาชิกมากกว่า เช่น รีอินชัวเรอส์อยากได้ข้อมูลอะไรบ้าง ถ้าเรียกเก็บจากรีอินชัวเรอส์วงเงินขนาดนี้จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก”

ข่าวจากวงการประกันภัยรายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มว่า สาเหตุหนึ่งที่รีอินชัวเรอส์ชะลอการจ่ายสินไหมมาจากการนับเหตุการณ์น้ำท่วมปีที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์เดียวหรือหลายเหตการณ์ มีรีอินชัวเรอส์ขนาดใหญ่บางรายนับเป็นเหตุการณ์เดียวเท่ากับเรียกเคลมได้ครั้งเดียว ขณะที่บริษัทประกันภัยไม่ยอมนับเป็นหลายเหตุการณ์ เพื่อจะได้เรียกเคลมได้หลายครั้งต้องรอการตีความ ทำการเรียกสินไหมในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้านี้สะดุดไป ขณะที่รีอินชัวเรอส์อีกหลายรายขอตรวจสอบความถูกต้องของยอดเคลมก่อน

ด้านเลขาธิการคปภ.กล่าวว่า การดึงเคลมน้ำท่วมหรือชะลอการจ่ายสินไหม ทางรีอินชัวเรอร์คงไม่สามารถทำได้ หรือถ้าจะทำได้ก็ต้องมีเหตุผลมารองรับหรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขของกรมธรรม์ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเกิดความเสียหายภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ต้องได้รับความคุ้มครองทันที เป็นไปตามเงื่อนไขและในกระบวนการ บริษัทต้องรับผิดชอบลูกค้าที่ขายกรมธรรม์ไป หากจะบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยต่อ ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประกันภัยต่อตามหลักสากลเป็นเรื่องระหว่างบริษัทประกันกับรีอินชัวเรอร์

“บริษัทประกันภัยไม่สามารถมาอ้างกับลูกค้าได้ว่า รีอินชัวเรอร์จ่ายสินไหมช้าแล้วจะมามาดึงหรือชะลอการชดใช้สินไหม เพราะถือเป็นภาระผูกพันที่บริษัทประกันภัยมีต่อลูกค้า และถ้าพิจารณาแล้วเข้าข่ายการประวิงการชดใช้สินไหมทดแทนก็ถือว่าผิดกฎหมายด้วย ถ้าเข้าเกณฑ์กรมธรรม์จะจ่ายก็ต้องจ่ายจากนั้นบริษัทประกันภัยกับรีอินชัวเรอร์ไปว่ากันเอง ซึ่งการที่รีอินชัวเรอร์จะขอข้อมูล ขอเอกสารเพิ่มเติมก็มีสิทธิทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กรมธรรม์ด้วย”

เลขาธิการคปภ.กล่าวว่า ล่าสุดคปภ.ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อสำรวจบริษัทประกันภัยทุกแห่งว่าในพอร์ตงาน มีลูกค้าที่ได้รับความเสียหายกี่ราย ลูกค้าเป็นใครบ้าง และจ่ายสินไหมแล้วเท่าไหร่ ซึ่งจะลงไปดูเป็นรายกรณี เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหยิบมาคุยกันว่า เพราะอะไรและมีอำนาจในการจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วย

“เรายังยืนยันเป้าหมายการจ่ายสินไหมภาคอุตสาหกรรมในวงเงินขั้นต่ำ 75% ของความเสียหายรวมภายในเดือน ก.ค. เช่นเดิม ระหว่างนี้ตราบที่ยังไม่ถึงเวลาก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามครรลองการบริหารจัดการสินไหมกันก่อน คปภ.ก็มีหน้าที่ติดตามดูตลอด รวมถึงการตั้งทีมงานดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามของคปภ. ที่จะทำให้สามารถเข้าไปติดตามดูและแก้ไขปัญหา รวมถึงดูว่ามีการประวิงสินไหมหรือไม่”

อย่างไรก็ดี ณ 31 มีนาคม 2555 บริษัทประกันวินาศภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว 65,827 ราย จากจำนวนผู้เอาประกันภัยที่เรียกร้องความเสียหาย 86,487 ราย คิดเป็น 76.11 % สำหรับการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว 21.91 % ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีทุนเอาประกันภัยสูง มีเงื่อนไขซับซ้อน เครื่องจักรที่เสียหาย มีเทคโนโลยีสูง จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะ

รวมทั้งปัญหาจากความชื้นและเชื้อราทำให้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงมีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น การประเมินความเสียหายงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะติดตามบริษัทประกันภัยเร่งรัดจ่ายสินไหมทดแทน ส่วนประกันชีวิตและประกันภัยอุบัติเหตุจ่ายครบแล้ว

ก่อนหน้านี้ ทางไทยรีและรีอินชัวเรอส์ได้ตั้งทีมสำรวจภัยเพื่อสำรวจความเสียหายของทรัพย์สินที่มีการเอาประกันภัยไว้ และได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหม่หมด เน้นลูกค้ารายใหญ่เพื่อประเมินความเสียหายจริงมีเท่าไหร่ หลังจากพบว่าตัวเลขสินไหมทดแทนบิดเบือนมาก เนื่องจากบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นแจ้งค่าเสียหายเกินจริง น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การจ่ายเคลมล่าช้า

ที่มา : สยามธุรกิจ