ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยข้าววุ่น ‘รี’ เสียงแตก ‘ค่าเบี้ยประกันภัย’

ค่าเบี้ยประกันภัยของปีนี้สนอมาแพงกว่าปีก่อน 2 เท่า ต้องหาประกันภัยต่อเข้ามาร่วมกับสวิส รี

ประกันภัยข้าววุ่น ‘รี’ เสียงแตก ‘ค่าเบี้ยประกันภัย’

มีนาคม
28

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 21 มีนาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ในที่สุด “โครงการประกันภัยข้าวนาปี” ฤดูใหม่ปีการเพาะปลูก 2555 ก็มีความชัดเจนจากภาครัฐ จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเนื่องจากเป็นประโยชน์กับเกษตรกร แต่ในเรื่องอัตราเบี้ยประกันภัยที่เป็นหัวใจสำคัญชี้ชะตาโครงการจะเกิดได้หรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปจะเก็บกันที่เท่าไหร่ เพราะการเจรจาหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ทางธุรกิจประกันภัยรอความชัดเจนจากภาครัฐเกี่ยวกับอนาคตโครงการนี้ กอปรกับอัตราเบี้ยประกันภัยที่ทาง “สวิส รี” ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต่อหลัก (ลีดเดอร์) โครงการเคาะมาก่อนหน้านี้ ทางภาครัฐมองว่าแพงเกินไปจะมีการต่อรองปรับลดราคาลงมา

นายกสมาคม ประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า การประกันภัยข้าวนาปี 2555 นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการหาบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) เข้ามาร่วมรับความเสี่ยงกับบริษัท สวิส รี เพราะสวิส รี ไม่ได้รับประกันภัยต่อทั้งหมด ส่วนที่เหลือต้องหารีอินชัวเรอส์ในตลาดโลก รายอื่นที่เคยร่วมรับประกันภัยในปีที่ผ่านมาเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงในส่วนที่เหลือ

“เราอยู่ระหว่างการหาประกันภัยต่อ เข้ามาร่วมกับสวิส รี ทำให้ไม่สามารถสรุปอัตราเบี้ยประกันภัยได้ เพราะไม่รู้ว่าผู้รับประกันภัยต่อรายอื่นจะยอมรับราคาเบี้ยประกันภัยที่ทางสวิส รี เสนอไว้แล้วหรือไม่ โดยค่าเบี้ยประกันภัยของปีนี้ที่ทางสวิส รี นำเสนอมาแพงกว่าปีก่อน 2 เท่าหรือ 200 กว่า %”

สาเหตุที่เบี้ยประกันภัยแพงเนื่องมาจาก 3 สาเหตุคือ 1.การรับประกันภัยรอบใหม่ เพิ่มความคุ้มครองไปถึงความเสียหายจาก วัชพืช แมลงศัตรูพืชด้วย 2.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครอง (ทุนประกันภัย) สูงขึ้นกว่าปีก่อน จากเดิมบริษัทประกันภัยจ่ายชดเชยสินไหมทดแทน 2 ช่วง ช่วงแรก 606 บาทต่อไร่และช่วงที่ 2 จำนวน 1,400 บาทต่อไร่ โมเดลในปีนี้อาจจะเพิ่มเป็น 500 บาทต่อไร่กับ 1,500 บาทต่อไร่หรือ 800 บาทต่อไร่กับ 1,500 บาทต่อไร่ และ 3.ความเสียหายจากน้ำท่วมปีก่อนตัวเลขล่าสุดมีมูลค่ามากถึง 700% หรือ 7 เท่าของเบี้ยประกันภัย

อย่างไรก็ดี แม้เบี้ยประกันภัยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นแต่ในแง่เกษตรกรอาจจะไม่ต้องรับภาระมากก็ได้ เนื่องจากรัฐมีนโยบายช่วยจ่ายเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกษตรกรแบกรับภาระมากเกินไป

“โครงการนี้เดินหน้าต่อในปีนี้แน่นอนเท่าที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลัง ยืนยันมีแนวนโยบายทำต่อและช่วยจ่ายเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรแน่นอน โดยสมาคมประกันวินาศภัยเรากำลังประสานกับบริษัทรับประกันภัยต่อหลายราย ที่เป็นรีอินชัวเรอส์ที่เข้ามารับประกันภัยในบ้านเรา แต่บางรายที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดไม่ยอมรับประกันภัยข้าว โดยรีอินชัวเรอส์จะสนใจหรือไม่อยู่ที่เบี้ยประกันภัย ถ้าเพียงพอก็เข้ามารับประกันภัย ทางสวิส รี ไม่ได้กำหนดจะรับประกันภัยต่อกี่เปอร์เซ็นต์ แต่กำหนดมูลค่าทุนประกันภัยที่จะรับประมาณ 6 ล้านเหรียญหรือราว 250 ล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่นาข้าวที่จะทำประกันภัยด้วยมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในเรื่องของรีอินชัวเรอส์สมาคมกำลังเร่งอยู่ ทางกระทรวงการคลังอยากให้ได้คำตอบเร็วที่สุด”

ด้านผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทางสวิส รี ที่เป็นแกนหลักการรับประกันภัยข้าวในปีที่ผ่านมา ได้คำนวณเบี้ยประกันภัยสำหรับการรับประกันภัยในปีนี้ไว้แล้ว ค่าเบี้ยวิ่งอยู่ระหว่าง 200-250 บาทต่อไร่ แต่ประเด็นคือรีอินชัวเรอส์ที่รับประกันภัยข้าวในปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีสวิส รี รายเดียวมีรายอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4-5 ราย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนมีมูลค่าเยอะมาก ทำให้รีอินชัวเรอส์รายอื่นๆ มีความคิดเห็นไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับสวิส รี และจนขณะนี้การเคลมยังไม่ยุติ

“ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ไปเจรจากับทางสวิส รี เพราะอยากจะรอความชัดเจนจากภาครัฐจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ เมื่อรัฐมีความชัดเจนจะเดินหน้าต่อเราจะคุยกับสวิส รี อีกครั้ง ตัวเลขเบี้ยประกันภัยที่แจ้งมาเมื่อตอนต้นปียังจะยึดราคานี้อยู่หรือไม่ รวมถึงเริ่มไปเจรจากับรีอินชัวเรอส์รายอื่นๆ ที่เคยรับเมื่อปีก่อนยินดีรับค่าเบี้ยประกันภัยที่สวิส รี เสนอมาหรือไม่”

ทั้งนี้ ปีก่อน สวิส รี รับประกันภัยอยู่ 40% บริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการรับอยู่ประมาณ 10% อีก 50% ที่เหลือรีอินชัวเรอส์รายอื่นร่วมกันรับประกันภัยไป ขณะที่การเคลมค่าเสียหายของปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ยังไม่เสร็จ บางภาคยังไม่ได้ยื่นเรื่องเข้ามา

ด้านประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมรับประกันภัยข้าวในปีที่ผ่านมา กล่าวว่าโครงการนี้ต้องทำประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นผู้คำนวณเบี้ยประกันภัยมาให้ ซึ่งความเสียหายที่สูงมากในปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยในปีนี้ปรับขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า โดยกรุงเทพประกันภัยยังเข้าร่วมโครงการต่อในปีนี้

“ความเสียหายในปีก่อนสูงมากก็จริง เพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่แต่เราไม่คิดว่าปีนี้จะหนักแบบนั้นอีก หากเกิดน้ำท่วมอีกอาจจะกระทบกับเราบ้าง แต่เราให้ความคุ้มครองกรณีฝนตกมากแล้ว ทำให้น้ำท่วมฝนตกน้อย ทำให้เกิดความแห้งแล้งจนข้าวได้รับความเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้ โดยวัดจากจำนวนฝนที่ตกลงมาไม่ได้เกี่ยวกับว่าน้ำท่วม เพราะมีการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนซึ่งไม่ใช่มาจากฝนตกทางธรรมชาติ ทางสวิส รี ที่เขารับประกันภัยต่อจากเรา เขาก็ศึกษาเหตุการณ์ทั้ง 2 อย่างแล้วเกิดบ่อยแค่ไหน เพื่อคำนวณค่าเบี้ยประกันภัย เหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาเราหวังว่าคนจะเรียนรู้เยอะขึ้น ต่อไปคนจะระวังมากขึ้น”

อนึ่ง อัตราเบี้ยประกันภัยที่สมาคมประกันวินาศภัยนำเสนอกับภาครัฐมีหลายอัตรา แต่ละอัตราทางบริษัท สวิส รี จะมีการคำนวณต้องมีนาข้าวทำประกันภัยไม่น้อยกว่ากี่ไร่ หากมีนาข้าวทำประกันภัยมากเบี้ยจะถูกลง ตรงกันข้ามหากพื้นที่ทำประกันภัยมีน้อยเบี้ยประกันภัยจะแพง อย่างเบี้ยประกันภัย 190 บาทต่อไร่ อยู่บนเงื่อนไขต้องมีนาข้าวทำประกันภัยเพิ่มขึ้นถึง 6 ล้านไร่

ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมที่สมาคมนำเสนอคือ 250 บาทต่อไร่ หากเกิดความเสียหายระหว่างการเพาะปลูกช่วง 60 วันแรกจ่ายชดเชย 800 บาทต่อไร่ หากเสียหายช่วง 60 วันที่สองจ่ายชดเชย 1,500 บาท เป็นค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกร เพิ่มเติมจากที่รัฐบาลจ่ายให้และขยายความคุ้มครองไปถึงภัยจากแมลงศัตรูพืชด้วย

ส่วนประกันภัยข้าวรอบเดิมที่ตัวเลขค่าเสียหายยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น ล่าสุดตัวเลขคร่าวๆ ณ กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับแจ้งจากเกษตรกรที่ทำประกันภัย หากคำนวณคร่าวๆ ถ้าเสียหายสิ้นเชิงและบริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าเสียหายสูงสุดที่ 1,400 บาทต่อไร่ เป็นเม็ดเงินประมาณ 600-700 ล้านบาท เทียบกับเบี้ยที่เก็บได้ประมาณ 130 ล้านบาท เท่ากับ Loss Ratio อยู่ที่ 500%

ขณะที่ท่าทีของธ.ก.ส. ล่าสุดยังหวั่นว่าเบี้ยประกันภัย 250 บาทต่อไร่ยังแพงไป แม้ว่ารัฐจะช่วยเกษตรกรจ่ายส่วนหนึ่งก็ตาม ซึ่งทางออกที่มองไว้คือ การตั้งกองทุนประกันภัยพืชผลเข้ามาดูแล

ที่มา : สยามธุรกิจ