ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ไทยซื้อคุ้มครองประกันภัย 5 แสนล้าน ใหญ่สุดในโลก

เชิญบริษัทนายหน้าประกันภัยขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลก หารือถึงการซื้อประกันภัยต่อภายใต้กองทุนคุ้มครองภัยธรรมชาติ

ไทยซื้อคุ้มครองประกันภัย 5 แสนล้าน ใหญ่สุดในโลก

มกราคม
31

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 21 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.

ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กองทุนประกันภัยรองรับ “กองทุนประกันภัยวงเงิน 50,000 ล้านบาท” ที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้ความคุ้มครองทรัพย์สิน 3 กลุ่มคือ บ้านอยู่อาศัย, ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โดยจะคุ้มครองวงเงินสูงสุดรวมกันไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความคุ้มครองของทั้งประเทศ

เดิมทีจะกำหนดให้คุ้มครองภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ และลูกเห็บ แต่ล่าสุดได้มีการตัดภัยลูกเห็บออก คงเหลือความคุ้มครองเพียง 3 ภัยคือ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ โดยได้สอบถามเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บอกเพียงว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพ.ร.ก.ที่ตัดความคุ้มครองภัยลูกเห็บออกไป ส่วนตัวไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเป็นเพราะโอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดความเสียหาย หรือมีความเสี่ยงภัยจากภัยลูกเห็บมีน้อยเมื่อเทียบกับอีก 3 ภัยธรรมชาติ

สำหรับพ.ร.ก.กองทุนประกันภัย เตรียมจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้แล้ว หลังจากนั้นจะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเป็นนิติบุคคล โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 6 คนเป็นผู้บริหารจัดการ เบื้องต้นคณะกรรมการชุดนี้เท่าที่ทราบ มีเลขาธิการคปภ.,ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

“เท่าที่คุยกันล่าสุดมีข้อเสนอว่า กองทุนน่าจะเป็นคู่สัญญาโดยตรงของบริษัทประกันภัย คือรับประกันต่อจากบริษัทประกันภัยโดยตรงเลยโดยไม่ต้องผ่านใคร โดยให้ว่าจ้างหน่วยงานข้างนอก (เอาต์ซอร์ส) มาเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องเกี่ยวกับเอกสารทั้งหมดให้กับกองทุนอีกที (เอาต์ซอร์สนี้เป็นบริษัทเดียวกับบริษัทรับประกันภัยต่อภัยธรรมชาติ (SPV) ที่จะจัดตั้งขึ้น) เอาต์ซอร์สต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องประกันภัย แต่ไม่น่าจะเป็นบริษัทที่รับประกันภัยโดยตรง เนื่องจากไม่มีความเป็นกลาง อาจจะเป็นบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) เช่น บริษัทไทยรับประกันภัยต่อ หรือไทยรี, บริษัทเอเชียนรี ก็ได้”

นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวภายหลังนำทีมบอร์ดบริหารสมาคมประกันวินาศภัย ประชุมร่วมกับเลขาธิการ คปภ.และผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งเสริมว่า บริษัทข้างนอกที่จะจ้างเข้ามา จะให้ศึกษาตลอดจนให้คำเสนอแนะ เกี่ยวกับรูปแบบการประกันภัยต่อ อัตราเบี้ยประกันภัยและจำนวนเงินเอาประกันภัย (ทุนประกันภัย) ที่เหมาะสมด้วย

เนื่องจาก 1 วันก่อนหน้านั้น (16 มกราคม) บอร์ดสมาคมฯ เชิญบริษัท เอออน เบนฟิลด์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลก มาหารือถึงการซื้อประกันภัยต่อภายใต้กองทุน จะให้ทางเอออนนำข้อเสนอวงเงินความคุ้มครองภายใต้กองทุน ไปขายในตลาดรับประกันภัยในตลาดโลก หารีอินชัวเรอส์มารองรับความเสี่ยงต่อจากรัฐบาล

ซึ่งทางเอออนบอกว่า วงเงินความคุ้มครอง 500,000 ล้านบาทที่ประเทศไทย จะซื้อสูงเกินไป สูงที่สุดในโลกเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีการซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา จึงให้เอออนช่วยดูตัวเลขจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหมาะสม ที่ประเทศไทยควรจะซื้อเป็นเท่าไหร่มาด้วย และอัตราเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่ ซึ่งทางเอออนก็ขอข้อมูลจำนวนกรมธรรม์ที่ขายทั้งหมด ทุนประกันภัยแยกเป็นแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด แต่ละภาคได้ส่งข้อมูลให้

“ตอนนี้ภาพต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ยังไม่เห็นพ.ร.ก.มีรายละเอียดอะไรบ้าง บอร์ดยังไม่ตั้งและยังไม่รู้มีใครบ้างมีอำนาจแค่ไหน ยิ่งบอร์ดตั้งเร็วเท่าไหร่ภาพต่างๆ จะชัดเจนขึ้น อย่างโครงสร้างต่างๆ ที่คุยกันไว้กับคปภ.ยังไม่นิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายระดับต่างๆ ที่บริษัทประกันภัย รัฐบาลและบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศจะรับ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องให้เอาต์ซอร์สศึกษาก่อน”

สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่มีการคุยกัน คือรายละเอียดของความคุ้มครองภัยธรรมชาติ ต้องกำหนดนิยามความหมายของภัยธรรมชาติให้ชัดเจนคืออะไร ลักษณะไหนถึงเรียกว่าภัยธรรมชาติ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาเป็นภัยธรรมชาติแน่นอน แต่หากบ้าน 1 หลังถูกน้ำท่วม อย่างนี้ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการตีความ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยวงเงินที่บริษัทประกันภัยจะรับจะใช่ 2,000 ล้านบาทหรือไม่ อยู่ที่คำจำกัดความด้วยถ้าไม่ใช่น้ำท่วมใหญ่เหมือนปีก่อนวงเงิน 2,000 ล้านบาทธุรกิจประกันภัยรับได้

ด้านแหล่งข่าวจากบอร์ดสมาคมฯ ที่ร่วมประชุมกับบริษัทเอออน ให้ข้อมูลว่า สมาคมฯให้เอออนเอาคำตอบจากรีอินชัวเรอส์ สามารถรับความเสี่ยงภัยได้เท่าไหร่และเบี้ยประกันภัยเป็นอย่างไรมาเสนอสมาคมฯ ภายในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นทางเอออนบอกจำนวนเงินเอาประกัน 500,000 ล้านบาท สูงมากเทียบกับประเทศอื่นๆ ซื้อความคุ้มครองประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท ลดเหลือแค่ประมาณ 200,000 ล้านบาทน่าจะพอ

“วงเงินคุ้มครอง 500,000 ล้านบาทใหญ่เกิน สมมติรีอินชัวเรอส์รายใหญ่ๆ ในโลกรับไป 10% ก็ 50,000 ล้านบาทต่อ 1 สัญญา ที่เหลือจะไปขายให้ใคร ใครจะกล้ารับมาก เจอไปโครมเดียวเหมือนปีก่อนก็หมดแล้ว ในมุมของเอออนเขามองว่า 500,000 ล้านบาท ไม่มีบริษัทรับประกันภัยต่อในโลกรับเสี่ยงได้ถึงขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาบริษัทรับประกันภัยต่อบาดเจ็บกันเยอะมาก หากลดลงมาเหลือ 200,000 ล้านบาทน่าจะพอหาตลาดรองรับได้”

ที่มา : สยามธุรกิจ