ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

บ้าน 2.1 ล้านหลังทำประกันภัย เป้ากองทุนมหันตภัย

ประกันอัคคีภัยเพียง 1.3 ล้านกรมธรรม์ ทำประกันภัยน้ำท่วมเพียง 10% ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบใหม่เพิ่มคุ้มครอง 4 ภัยธรรมชาติ

บ้าน 2.1 ล้านหลังทำประกันภัย เป้ากองทุนมหันตภัย

มกราคม
20

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 11 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จัดตั้งกองทุนประกันภัยน้ำท่วมวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ และความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัยของไทย โดยปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างกองทุนประกันภัย ตลอดจนรูปแบบการรับประกันภัย โดยได้มอบนโยบายให้คิดรูปแบบการรับประกันภัยครอบคลุมภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว และลูกเห็บ ขณะเดียวกันก็ครอบคลุมที่อยู่อาศัย เอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย โดยเบื้องต้นคาดว่าทางภาคธุรกิจจะสมทบกองทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็น 51,000 ล้านบาท

นายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า เดิมวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ เน้นรองรับรายย่อย คือ บ้านอยู่อาศัย และเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่เมื่อภาครัฐต้องการที่จะให้ครอบคลุมธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย สมาคมจึงต้องกลับมาทำข้อมูลใหม่ แต่เบื้องต้นได้ชี้แจงถึงแนวทางไว้แล้ว โดยจะรับประกันภัยแยกตามภาค และแยกเป็นรายย่อย และรายใหญ่พวกโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

“เหตุที่ต้องแยกตามภาค เพราะแต่ละภาคไม่ได้เกิดภัยธรรมชาติพร้อมกัน และความเสียหายก็แตกต่างกัน ดังนั้นอัตราเบี้ยประกันภัยของแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เท่ากัน เราจึงต้องขอเวลาในการนำข้อมูลต่างๆ มาจัดทำรูปแบบการรับประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการเข้ามารองรับของกองทุนควรจะเป็นอย่างไร”

สำหรับกองทุนข้างต้น คล้ายกับกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่เวลาเกิดความเสียหาย นำเงินในกองทุนมาจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย แต่ต่างกันตรงที่กองทุนนี้ รัฐประเดิมเงินทุนในการจัดตั้งให้ 50,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่งต้องเข้ามาร่วม และนำเบี้ยประกันภัยธรรมชาติที่ขายได้นำส่งเข้ากองทุน ซึ่งสัดส่วนจะเป็นเท่าใดนั้นยังต้องรอรายละเอียดที่จะออกมา

ทั้งนี้ได้เสนอเริ่มขายประกันภัยคุ้มครองภัยธรรมชาติให้กับบ้านอยู่อาศัยก่อน ซึ่งในปี 2554 ที่ผ่านมามีบ้านอยู่อาศัยที่ทำประกันอัคคีภัยเพียง 1.3 ล้านกรมธรรม์ และในจำนวนนี้มีการทำประกันภัยน้ำท่วม คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% หรือประมาณ 10,000 กรมธรรม์เท่านั้น ขณะที่บ้านอยู่อาศัยตามข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ บ้านอยู่อาศัยที่ถูกน้ำท่วมของภาครัฐอยู่ที่ 2.1 ล้านครัวเรือน

“จากตัวเลขดังกล่าว เราจึงตั้งเป้าว่า จะมีบ้านอยู่อาศัยซื้อประกันภัยน้ำท่วม 2 ล้านกรมธรรม์ โดยได้เสนอให้นำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบใหม่ เพิ่มคุ้มครอง 4 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม ลมพายุ ลูกเห็บ และแผ่นดินไหว เบี้ยประกันภัย 300 บาทต่อปี ทุนประกันภัย 50,000 บาท ที่ทางสมาคมเคยจัดทำไว้ แต่ขอให้คปภ. เลื่อนการขายออกไปช่วงน้ำท่วมหนักเมื่อปีที่แล้วมาเป็นต้นแบบ โดยจะต้องมีปรับเบี้ยกันใหม่ให้เหมาะสม เพราะ 300 บาทไม่พอรองรับความเสี่ยงแน่”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัย ระบุว่า กองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาทไม่ น่าจะพอรองรับได้ครอบคลุมอย่างต่ำควรจะแสนล้านบาท หากต้องรองรับไปถึงลูกค้ารายใหญ่ด้วย

สอดคล้องกับความเห็นของแหล่งข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นเงินที่รัฐบาลจะจัดสรรให้มา ยังไม่มีข้อสรุปจะรับประกันภัยเฉพาะลูกค้ารายย่อย คือ บ้านอยู่อาศัย และธุรกิจเอส เอ็มอี เนื่องจากระยะหลังทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจมีการพูดคุยกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายความคุ้มครองลูกค้ารายใหญ่ด้วย แม้ในแง่ของลูกค้ารายใหญ่จะมีความได้เปรียบรายย่อย ตรงที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า ทำให้สามารถซื้อประกันภัยได้มากกว่าก็ตาม อย่างไรก็ดีเบื้องต้นจะเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย

“50,000 ล้านบาทเป็นวงเงินที่จะประกันภัยไว้ในประเทศ ส่วนที่เกินจะเป็นกลไกของประกันภัยต่อที่จะเข้ามารองรับ ถามว่ากองทุนนี้จะเกิดเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐและต้นทุนประกันภัยต่อ การขยายวงเงินสูงขึ้นจะมีต้นทุนสูงขึ้นแค่ไหน”

อย่างไรก็ดี การมีกองทุนนี้ส่งผลดีต่อประชาชน ทำให้ประชาชนมีโอกาสซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติได้ เทียบกับขณะนี้ทุกบริษัทปฏิเสธคุ้มครองภัยธรรมชาติ การมีเงินกองทุนเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชน ซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติได้ แต่ต้องเป็นในรูปแบบการจำกัดวงเงินความคุ้มครอง (Sub limit) ส่วนธุรกิจประกันภัยสามารถที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภค ในแง่ทำให้ประชาชนได้มีความคุ้มครอง อีกส่วนหนึ่งทำให้เบี้ยประกันภัยในระบบเพิ่มขึ้นแน่นอน

ที่มา : สยามธุรกิจ