ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

เปิดทางต่างชาติฮุบบริษัทประกันภัยพิษน้ำท่วม นายทุนไทยบ่จี๊

คปภ. พร้อมพิจารณากฎเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติได้เกินกว่า 49% เฉพาะกรณีที่บริษัทประกันภัยมีความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วมเท่านั้น

เปิดทางต่างชาติฮุบบริษัทประกันพิษน้ำท่วม นายทุนไทยบ่จี๊

มกราคม
13

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 7 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.

ความเสียหายวงเงินมหาศาลจากน้ำท่วม ซึ่งธนาคารโลกประจำประเทศไทย ประเมินความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศราว 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ธุรกิจประกันภัยที่ต้องแบกรับความเสียหายส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำประกันภัยไว้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประเมินค่าเสียหายรวมประมาณ 300,000 ล้านบาท อาจจะกระทบกับฐานะการเงินของบริษัทประกันภัย หลายบริษัทอาจจะต้องเพิ่มทุน เพื่อรองรับค่าสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้นและพยุงเงินกองทุนไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์

แต่การเพิ่มทุนอาจจะมีปัญหา ผู้ถือหุ้นคนไทยอาจจะเพิ่มทุนไม่ได้หรือไม่ต้องการเพิ่มทุนอีก เพราะมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติพร้อมที่จะเพิ่มทุน แต่ติดข้อกฎหมายจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติห้ามเกิน 49%

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ทางคปภ. พร้อมที่จะพิจารณาผ่อนปรน กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ โดยจะอนุญาตให้ถือหุ้นในบริษัทประกันภัยได้เกินกว่า 49% ในกรณีที่ต้องมีการเพิ่มทุน โดยจะพิจารณาให้เป็นพิเศษ เฉพาะกรณีที่บริษัทประกันภัยนั้นๆ มีความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วมเป็นจำนวนมากเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความเสียหายจากกรณีอื่น เพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันภัยไม่ให้ประสบปัญหาฐานะการเงิน และการจ่ายสินไหมทดแทนไม่สะดุด

“เราจะเปิดช่องให้เป็นรายกรณี เช่น บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งมีผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ และส่วนใหญ่รับประกันภัยน้ำท่วมไว้เยอะ ทำให้เสียหายมากต้องหาเงินมาจ่ายเคลมให้กับผู้เอาประกันภัย อีกทั้งความเสียหายครั้งนี้มาก ทำให้กินทุนที่มีอยู่ไปเยอะ เงินกองทุนขาดต้องเพิ่มทุนเข้ามา ถ้าผู้ถือหุ้นคนไทยไม่สามารถเพิ่มทุนได้หรือไม่อยากจะเพิ่มทุนเข้ามา จะเจอปัญหาขาดเงินที่จะมาจ่ายสินไหมลูกค้าจำนวนมาก ที่เรียกร้องสินไหมและรอชำระอยู่จะได้รับผลกระทบวงกว้าง ขณะที่คปภ. เองก็มีนโยบายเร่งรัดกระบวนการจ่ายสินไหม ให้ลูกค้าน้ำท่วมเป็นไปอย่างรวดเร็ว เคสไหนเข้าลักษณะนี้จะพิจารณาให้เป็นพิเศษ เราไม่ได้ให้สำหรับกรณีทั่วไป”

ต่อข้อถามมีบริษัทประกันภัย ที่เข้าข่ายลักษณะนี้ขอเข้ามาที่คปภ.หรือยัง เลขาธิการคปภ.กล่าวว่า ขอยังไม่ให้คำตอบ เพราะมีบริษัทประกันภัยที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น ที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติกำลังเจรจาต่อรองกันอยู่ ซึ่งการพิจารณาให้ชาวต่างชาติ ถือหุ้นเกิน 49% นั้นไม่ให้ตลอดไป จะกำหนดเงื่อนไขเวลาให้ภายในกี่ปี หลังจากนั้นจะต้องกลับเข้าสู่โครงสร้างเดิม การพิจารณายึดตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กับธนาคารในช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

ภายใต้กฎหมายประกันภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทประกันภัยได้ไม่เกิน 25% แต่หากจะถือหุ้นเกิน 25% แต่ไม่เกิน 49% ต้องได้รับอนุญาตจากบอร์ดคปภ.ก่อน และหากจะถือหุ้นเกิน 49% ขึ้นไป นั้นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะพิจารณาอนุญาตให้เฉพาะ กรณีบริษัทประกันภัยมีฐานะ หรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

ด้านแหล่งข่าวจากคปภ.กล่าวเสริมว่า บริษัทประกันภัยที่มีภาระต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก จากน้ำท่วมจำเป็นต้องเพิ่มทุนเข้ามาเพื่อรองรับการจ่ายสินไหมและเงินกองทุน ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์นั้น บางทีผู้ถือหุ้นคนไทยอาจไม่สะดวกที่จะเพิ่มทุน ขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติยินดีจะเพิ่มทุน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเกิน 49% ก็ต้องขออนุญาตจากบอร์ดคปภ. ที่จะขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีประเด็นเรื่องน้ำท่วม บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินกองทุน

“บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากเคลมน้ำท่วม ส่วนใหญ่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากเงินกองทุนขั้นต่ำที่ต้องดำรงตามกฎหมาย ต่ำกว่าเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ที่กำหนดไว้ 125% หากต่างชาติเอาเงินเข้ามาเพิ่ม จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของเขาเกิน 49% ขณะที่ของคนไทยจะลดลง หากเราไม่ให้เขาถือหุ้นเกิน 49% ซึ่งจะทำให้เขาได้อำนาจบริหาร เขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินที่เอาเข้ามาลงทุน ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามวัตถุประสงค์”

แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทประกันภัยที่เข้าข่ายนี้ เป็นบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นที่มีการร่วมทุนกับคนไทยที่เข้ามาคุยกับคปภ. ตอนนี้คือบริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เจอเคลมน้ำท่วมมาก ทางสมโพธิ์ เจแปน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้นตรงอยู่ 25% พร้อมจะเอาเงินเข้ามาเพิ่มทุน แต่ติดปัญหาเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น ขณะที่ทางสุรพลฟู้ดที่ถือหุ้น 24% ได้ขายหุ้นทั้งหมดออกไปแล้ว ขณะที่ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม ที่เปิดดำเนินธุรกิจในประเทศไทย 2 บริษัท ทั้งรูปแบบสาขาและบริษัทร่วมทุนใช้วิธีนำเงินเข้ามาผ่านทางสาขา

สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก เคลมน้ำท่วมจนทำให้เงินกองทุนลดลงและ เตรียมจะเพิ่มทุนเข้ามา อาทิ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือไทย รี จะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกเป็น 5,268,742,290 บาท โดยจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนราคาหุ้นละ 1 บาท ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและบุคคลในวงจำกัด ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยลดลงต่ำกว่า 75% ไทยรีให้เหตุผลของการเพิ่มทุนว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้บริษัทซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยต่อ แห่งเดียวของประเทศไทยที่มีการรับประกันภัยต่อของภัยต่างๆ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวางได้รับผลกระทบจากความเสียหายครั้งนี้ โดยประมาณการว่า หากเกิดความเสียหายสูงสุด ที่อาจส่งผลกระทบให้อัตราส่วนการดำรงเงินกองทุน ต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR Ratio) ต่ำกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ของคปภ. ที่กำหนดไว้ 125% ซึ่งตามงบการเงิน ณ 30 กันยายน 2554 บริษัทมีอัตราส่วน CAR Ratio อยู่ที่ 169.98%

ดังนั้น บริษัทต้องมีเงินกองทุนใหม่เข้ามาสนับสนุน เพื่อความพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทน และดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป ซึ่งภายหลังการเพิ่มทุน จะมีเงินกองทุนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6,975 ล้านบาท มี CAR Ratio ตามเกณฑ์คปภ.

ก่อนหน้านี้ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ปี 2555 จะเห็นการควบรวมกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย มากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 บริษัทส่วนหนึ่ง เพราะความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้บริษัทประกันภัยภายในประเทศถูกกระทบมาก หากเงินกองทุนต่ำกว่า 100% หรือ 150% แม้คปภ.จะผ่อนปรนเกณฑ์การกำกับให้ 6 เดือนก็ตาม แต่หลังจากนั้นจะกลับมาบังคับเหมือนเดิม ซึ่งหากเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ RBC ต้องเพิ่มทุนเข้ามา อยู่ที่ผู้ถือหุ้นอยากจะเพิ่มทุนหรือไม่

ที่มา : สยามธุรกิจ