ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ส่งซิกรัฐไม่ลงเงินกองทุนฯ ไม่สนทุน แค่รับประกันภัยต่อ

ภาครัฐจะไปมุ่งที่การบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

ส่งซิกรัฐไม่ลงเงินกองทุนฯ ไม่สนทุน แค่รับประกันภัยต่อ

ธันวาคม
7

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 3 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ขณะที่คณะทำงานร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัยกำลังศึกษารูปแบบ (โมเดล) การรับประกันภัยมหันตภัยของหลายๆ ประเทศเทศ อยู่เพื่อหาโมเดลที่เหมาะสมรับประกันภัยมหันตภัย อาทิ น้ำท่วม ให้กับกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้งบ้านอยู่อาศัย ร้านค้าและธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งการรับประกันภัยธรรมชาติลูกค้ากลุ่มนี้ ทางนายกสมาคมประกันวินาศภัยย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน ไม่สามารถทำได้เลยหากรัฐบาลไม่เข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัย เพื่อเพิ่มกำลังความสามารถในการรับประกันภัย (คาปาซิตี้) ให้กับธุรกิจ บรรเทาเบี้ยประกันภัยให้กับประชาชนไม่ต้องจ่ายเบี้ยแพงมาก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การที่ภาครัฐจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันวินาศภัย ในโมเดลการรับประกันภัยมหันตภัย อาทิ กองทุนมหันตภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลที่ศึกษาอยู่จะทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลง แต่การที่รัฐจะใช้เงินไปเพื่อเรื่องใดก็ตามก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องชั่งน้ำหนักดูผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างการใช้เงินเพื่อเป็นเงินทุนในกองทุนฯ กับการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำ ภาครัฐน่าจะไปมุ่งที่การบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำมากกว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้ดีที่สุดเพราะจะมีผลต่อคนไทยทั้งประเทศ

“ตอนนี้เรากำลังศึกษารูปแบบของหลายๆ ประเทศอยู่เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ตุรกี สหรัฐฯ ต้องดูแต่ละประเทศเขามีภัยอะไรและทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ทุกโมเดลทำแล้วจะสำเร็จ อย่างที่สหรัฐฯ เป็นกองทุนพายุเฮอริเคนทำแล้วเจ๊ง แต่ละโมเดลเราจะหารือกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในแง่เทคนิค เพราะเวิลด์แบงก์เขาก็ช่วยประเทศต่างๆ ในการจัดตั้งกองทุนรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาอย่าง ที่นิวซีแลนด์และไต้หวัน”

การจัดทำโมเดลรับประกันภัยมหันตภัยจะเดินคู่ไปกับการบริหารจัดการเรื่องน้ำ 3 ข้อที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อ ได้แก่ 1.เร่งน้ำลดให้เร็วที่สุด 2.การประเมินความเสียหายเร่งกระชับกระบวนการชำระค่าสินไหมทดแทนและ 3.จัดทำ Flood Model ซึ่งหากทำ 3 ข้อนี้สำเร็จจะทำให้เบี้ยประกันภัยน้ำท่วมลดลง ระหว่างนี้การทำประกันภัยน้ำท่วมให้ใช้วิธีจำกัดความรับผิดสูงสุดหรือซับ ลิมิต ลดความคุ้มครองน้ำท่วมลง เท่ากับความเสียหายไม่ต้องทำเต็มทุนประกันภัย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการต่อสัญญาและเบี้ยแพงไปก่อนหลังจาก 3 ข้อนี้เริ่มเป็นรูปธรรมคาดไว้ไม่เกินไตรมาสแรกสถานการณ์จะดีขึ้น

ด้านนายกสมาคมประกันวินาศภัยกล่าวว่า โมเดลการรับประกันภัยมหันตภัยที่สมาคมฯ จะเสนอผ่านทางคปภ.ไปถึงรัฐบาล ไม่ได้ให้รัฐเข้ามาร่วมด้วยการลงเงิน แต่ต้องการให้รัฐเข้ามารับประกันภัยมหันตภัยต่อจากธุรกิจประกันภัยเฉพาะลูกค้ารายย่อย 3 กลุ่มข้างต้นเท่านั้น ทำ ให้ธุรกิจประกันภัยอาจจะไม่ต้องซื้อประกันภัยต่อกับต่างประเทศเลยหรือซื้อน้อยลง การที่รัฐเข้ามาร่วม เป็นการแสดงความเชื่อมั่นต่อผู้รับประกันภัยต่อ แต่หากรัฐไม่เข้ามารับประกันต่อ ภาคธุรกิจต้องไปหาผู้รับประกันภัยต่อเองทั้งหมดจะทำให้ราคาเบี้ยประกันภัยแพงมาก

“โมเดลที่เราศึกษาอยู่หลักการคือให้บริษัทประกันภัยทุกแห่ง ขายประกันภัยมหันตภัยให้กับผู้บริโภค หลังจากนั้นก็ส่งเข้ามาในโครงการนี้ ซึ่งจะประกันภัยต่อ ไปให้กับรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง รูปแบบที่จะจัดตั้งขึ้น ยังไม่รู้ว่าจะเป็นกองกลางหรือพูล (Pool) หรือในรูปแบบบริษัทมหันตภัยต้องมาดูกันอีกที เป็นแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น ทั้งในเรื่องของการรับประกันภัยและเบี้ยประกันภัยไม่ให้แพงเกินไป เพราะหากรัฐไม่เข้ามารับประกันภัยต่อราคาเบี้ยจะแพงมากกระทบกับผู้บริโภครุนแรง เพราะลูกค้ารายย่อยกลุ่มนี้ไม่ได้มีมาตรการป้องกันน้ำท่วมมากเหมือนรายใหญ่ จะมีความเสี่ยงสูง ขนาดของการรับประกันภัยมหันตภัยที่เราเตรียมเสนอทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท”

กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินพิเพ็นเดนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด อดีตนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย 4 สมัยกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับบริษัท Asia Capital Reinsurance(ACR) ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต่อรายใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 10% ยืนยันยังคงรับประกันภัยมหันตภัยในประเทศไทยต่อไป แต่เบี้ยประกันภัยจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ยังบอกยาก ต้องรอดูบริษัทรับประกันภัยต่อรายใหญ่ๆ ของโลกที่เป็นลีดในสัญญาประกันต่อในประเทศไทยก่อน ซึ่งการต่อสัญญาจะมีแยกภัยธรรมชาติที่มีความเสี่ยงสูง 3 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ลมพายุและแผ่นดินไหว ออกมาจากสัญญาประกันภัยทรัพย์ที่เป็นสัญญาหลัก ACR เป็นผู้รับประกันต่อในสิงคโปร์ มีเทมาเส็กและเศรษฐีในบรูไนและมาเลเซียถือหุ้น

ที่มา : สยามธุรกิจ