ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

บทเรียนวิกฤติน้ำท่วม ประกันภัยหายจากระบบกว่าครึ่ง

ผลกระทบโดยเฉพาะการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมไปถึงภาพรวมของตลาดประกันภัย โดยเฉพาะระบบการประกันภัยต่อ

บทเรียนวิกฤติน้ำท่วม ประกันภัยหายจากระบบกว่าครึ่ง

ธันวาคม
1

โดย อาร์วาบทีไนน์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เวลา 00:00 น.

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยเจอมา ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนให้กับภาคธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างมาก เพราะบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 68 บริษัท จากก่อนหน้านี้มีอยู่ 74 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะครอบครัว และตั้งบริษัทมาเพื่อให้เอื้อต่อธุรกิจอื่นๆ ในครอบครัว แต่จากนี้ไปบริษัทประกันวินาศภัยต้องหันมาปรับตัวเองใหม่ เพราะบางบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมจากน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้อาจกระทบต่อฐานะทางการเงินบ้าง ดังนั้นหากประเมินในมุมกว้าง เชื่อว่าในอนาคตบริษัทประกันวินาศภัยของไทยน่าจะควบรวมจนลดลงเหลือ 50% จากปัจจุบัน

สำหรับไทยศรีประกันภัย ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยได้เตรียมเข้าไปซื้อกิจการบริษัทประกันวินาศภัยที่มีขนาดเบี้ย 1,000-2,000 ล้านบาทเป็นหลัก โดยคาดว่าในปี 2555 จะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทประกันภัยแต่ละแห่งต้องจ่ายค่าสินไหมจากน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก และอาจจำเป็นต้องการเงินทุนเพิ่ม ทำให้แต่ละบริษัทต้องปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอด

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประเมินว่าน้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ใหญ่สุดรอบ 50 ปี ของไทย ได้สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งอาคาร บ้านเรือน รถยนต์ พื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งพืชสวนทางการเกษตร ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่แท้จริงได้ มีแค่ประเมินคร่าวๆ ว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท จากจำนวนเม็ดเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของภาคอุตสาหกรรมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท และของภาคครัวเรือน ประมาณ 50,000 ล้านบาท จากนี้ไปบริษัทประกันวินาศภัยต้องหันมาปรับตัวเองใหม่

ขณะที่ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตั้งแต่ 29 กรกฎาคม-22 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา สมาคมประกันชีวิตไทยได้ติดตามข้อมูล ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างใกล้ชิดพบว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 606 ราย ผู้สูญหาย 3 ราย ดังนั้นสมาคมประกันชีวิตไทยจึงได้ตรวจสอบจากรายชื่อผู้เสียชีวิตดังกล่าว เพื่อเร่งจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้รับประโยชน์หรือทายาท

ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงการทำประกันชีวิต ซึ่งขณะนี้สถิติจำนวนผู้ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตของประเทศไทยมีเพียง 16.3 ล้านคน ของประชากรไทย 65.4 ล้านคน หรือ 25% ซึ่งหมายถึงคนไทย 100 คน มีความคุ้มครองจากการประกันชีวิตเพียง 25 คนเท่านั้น ในขณะที่ต่างประเทศทั้งสิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่นมีผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตเกิน 100% ซึ่ง หมายถึงแต่ละคนมีกรมธรรม์ประกันชีวิตเกินคนละ 1 ฉบับแล้ว และยิ่งผู้ประสบชะตากรรมจากมหาอุทกภัยของไทยในครั้งนี้ เฉลี่ยมีผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียง 12% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าสถิติเฉลี่ยของประเทศ คาดว่าจะทำให้ทายาทของผู้เสียชีวิตเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส สมาคมจึงขอให้ประชาชนเล็งเห็นคุณค่า และประโยชน์ของการทำประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุส่วนบุคคลให้มากขึ้น เพื่อจะได้เกิดความมั่นคงทางครอบครัว เนื่องจากได้มีการรองรับความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยยังได้รับข่าวร้ายอีก เมื่อได้รับจดหมายจาก Caisse Centrale de Reassurance (CCR) ซึ่งเป็นรีอินชัวเรอร์ (บริษัทผู้รับประกันภัยต่อ) รายใหญ่แจ้งขอถอนตัวจากการรับประกันภัยต่อ ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไทย มีผลตั้งแต่ปี 2555 เป็นผลมาจากมหันตภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามจดหมายดังกล่าวถูกส่งจากสำนักงานใหญ่ CCR ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ 21 พย.54 ชี้แจงว่าบริษัทได้ทบทวนนโยบายการรับประกันภัยต่อในตลาดต่างๆ ทั่วโลก และเห็นว่าจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากร ด้านความสามารถในการรับประกันภัยไปยังจุดที่เป็นตลาดหลัก รวมถึงมหันตภัยจากภัยธรรมชาติในเอเชียที่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จึงตัดสินใจถอนตัวจากการทำธุรกิจในบางประเทศ เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้มีคุณภาพมากขึ้น บริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การทำกำไรในระยะยาว

ที่มา : อาร์วายทีไนน์