ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัย ลุ้นรัฐมนตรีใหม่สางปัญหาค้างเติ่ง

ฝากรัฐบาลใหม่สางปัญหาภาษี มุ่งเป้าประเด็นแก้ไขตั้งสำรองเป็นวาระเร่งด่วน ควรจะเป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ประกันภัย ลุ้นรัฐมนตรีใหม่สางปัญหาค้างเติ่ง

กรกฎาคม
27

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ประกันชีวิต ฝากรัฐบาลใหม่สางปัญหาภาษีที่ยังค้างเติ่ง มุ่งเป้าประเด็นแก้ไขตั้งสำรองเป็นวาระเร่งด่วน เหตุต้องผ่านพิจารณาสภา วอนช่วยส่งเสริมธุรกิจในทุกด้าน ปัญหาภาษีถือเป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจประกันชีวิต มุ่งเสนอให้รัฐบาลแก้ไขมานานนับสิบปี แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายสมัย แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขหมด ยังมีประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคธุรกิจอยู่ ซึ่งบางประเด็นเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นนำเสนอใหม่ ทำให้การแก้ไขไม่คืบหน้าไปถึงไหน

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่าอยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยธุรกิจประกันชีวิต ด้วยการส่งเสริมธุรกิจในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในแง่ของข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ได้นำเสนอค้างเอาไว้ ซึ่งบางเรื่องจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาโดยเรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ การแก้ไขเกณฑ์ตั้งสำรองของธุรกิจประกันชีวิต ที่ควรจะเป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย

แทนที่ปัจจุบันจะเป็นเกณฑ์ของกรมสรรพากรอย่างหนึ่ง และตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อย่างหนึ่ง “นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของค่าลดหย่อนภาษีในส่วนต่างๆ ที่ได้เคยเสนอไว้ ก็อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อด้วย”

ทั้งนี้ประเด็นเรื่องของการขอแก้ไขหลักเกณฑ์การตั้งสำรองนั้น ถือเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากกรมธรรม์ประกันบำนาญ ที่ได้รับอนุมัติให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาทเมื่อปีที่ผ่านมา โดยทางสมาคมขอแก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (1) ก ให้บริษัทประกันชีวิตนำเงินสำรองประกันภัยมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 65% หรือให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งจะสอดคล้องกับการขายประกันบำนาญที่เป็นกรมธรรม์ระยะยาว

ส่วนประเด็นเรื่องของการลดหย่อนภาษีอื่นๆ นั้น ทางสมาคมได้ขอลดหย่อนภาษีสำหรับกรมธรรม์พ่วงลงทุน (Investment Linked) ทั้งยูนิต ลิงค์(Unit Linked) และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (Universal Life: UL) เพื่อกระตุ้นการขยายตลาดของการประกันภัยประเภทนี้ โดยในตอนแรกได้ขอลดหย่อนภาษีแบบขั้นบันได คือ ปีแรกให้หักลดหย่อนได้ ไม่เกิน 100,000 บาท ปีที่ 2 ไม่เกิน 200,000 บาท และปีที่ 3 ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ในตอนหลังได้ขอลดหย่อนภาษีวงเงิน 100,000 บาท โดยให้ไปรวมกับกองทุนหุ้นระยะยาว (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (LTF) วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท แต่ในที่สุดกลับเป็นกรมธรรม์บำนาญ ที่ได้เงื่อนไขเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี โดยที่เมื่อนำไปรวมกับ LTF และกองทุนอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทแทน รวมไปถึงประเด็นการขอนำค่าเบี้ยประกัน สำหรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) และประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้รวมกันไม่เกิน 50,000 บาท โดยได้ร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยในการผลักดันมาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ประเด็นในเรื่องของการขอแก้ไขหลักเกณฑ์การตั้งสำรอง และการลดหย่อนภาษีต่างๆ นั้น ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณานาน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับงบประมาณรายได้ของรัฐ ซึ่งตามเกณฑ์ตั้งสำรองใหม่นี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีจากภาคธุรกิจจะต้องลดลงไปในระยะแรก แต่จะไปชดเชยเพิ่มขึ้นในระยะยาวจนกลับมาระดับปกติ แต่ทางกรมสรรพากรก็ไม่กล้าชี้ชัดระยะเวลาที่แน่นอนได้ว่าจะเป็นเมื่อใด ที่การจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นมาได้

ขณะที่ประเด็นกรมธรรม์ยูนิต ลิงค์ และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ หากว่าได้รับการอนุมัติลดหย่อนภาษี ก็จะช่วยกระตุ้นตลาดได้ดีขึ้น แม้ว่าจะมองว่าเป็นกรมธรรม์เฉพาะกลุ่มลูกค้า ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนก็ตาม แต่ก็เหมาะกับภาวะตลาดปัจจุบัน ที่ลูกค้าต้องการทั้งการออม คุ้มครอง และการลงทุน

ที่มา : สยามธุรกิจ