ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

‘กองทุนภัยพิบัติ’ วงแตก บ.ประกันภัยเอกชนส่งสัญญาณถอนตัว

มีเพียงรายเดียวคือ แอกซ่าประกันภัย สาเหตุเพราะขั้นตอนเอกสารต่างๆ ยุ่งยาก

‘กองทุนภัยพิบัติ’ วงแตก บ.ประกันภัยเอกชนส่งสัญญาณถอนตัว

พฤศจิกายน
5

กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เพื่อรับประกันภัยความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 3 ภัย ที่มีความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ คือ น้ำท่วม ลมพายุและ แผ่นดินไหว ให้กับบ้านอยู่อาศัย เอสเอ็มอีและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งกว่าจะจัดตั้งได้ก็วุ่นวาย แม้จะเปิดขายแล้วยังไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากประชาชน ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง

ล่าสุด กองทุนฯ ส่อเค้าวุ่นอีกเมื่อมีบริษัทประกันภัย ที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมรับประกันกับกองทุนฯ ขอถอนตัวออก ทั้งที่เพิ่งผ่านมาได้แค่ 6 เดือนกว่าเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า บริษัทที่ถอนตัวออกจากโครงการฯ ขณะนี้มีเพียงรายเดียวคือ บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) สาเหตุที่ถอนตัว เพราะเห็นว่าขั้นตอนดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ในการรับประกันภัยพิบัติที่ต้องส่งให้กับกองทุนฯ ยุ่งยาก บริษัทแม่ต่างประเทศจึงไม่อยากจะให้ทำต่อ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบกับกองทุนฯ เพราะเป็นผู้รับประกันภัยพิบัติรายเล็ก

“เป็นปัญหาของเขาที่ไม่อยากยุ่งยาก ในเรื่องของเอกสารจึงขอถอนตัวออกไป ไม่มีปัญหากับกองทุนฯ และไม่ใช่รายใหญ่ที่รับประกันภัยพิบัติ อย่างเมืองไทยประกันภัย หรือไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย ซึ่งหากว่าเขาถอนอาจมีผล บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการให้ภาพรวมเกิดความพร้อมในการรับประกันภัย แต่จริงๆ อาจจะถนัดรับประกันภัยประเภทอื่น เช่น ประกันภัยสุขภาพ ประกันภัยรถยนต์ ถึงระยะหนึ่งก็อาจจะถอนตัวไปรับประกันภัยเฉพาะงานที่ถนัด แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไม่น่าจะมีบริษัทถอนตัวเพิ่มอีก”

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในช่วง 6 เดือนแรกที่กองทุนฯ เริ่มดำเนินการอาจจะมีกฎระเบียบที่ยุ่งยากในทางปฏิบัติบ้าง ซึ่งกฎระเบียบใดที่ออกไปแล้วปฏิบัติไม่ได้ กองทุนฯ ก็พยายามปรับให้ปฏิบัติได้ ถึงตอนนี้ก็เริ่มเข้าที่แล้วคาดว่าปี 2556 ระบบก็จะนิ่งไม่ต้องปรับอีก จะเหลือแต่เรื่องของอัตราเบี้ยประกันภัยที่จะมีการปรับปรุง เพราะปีนี้ไม่เกิดภัยพิบัติหรือน้ำท่วมรุนแรง ขณะที่ตลาดประกันภัยต่อ อัตราเบี้ยประกันภัยเริ่มปรับลดลง ดังนั้นปี 2556 คงต้องมาทบทวนอัตราเบี้ยประกันภัยใหม่

“ประกันภัยพิบัติเพิ่งขายเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา หากจะปรับอัตราเบี้ยประกันภัยในตอนนี้ ก็จะไม่เป็นธรรมกับลูกค้าที่ซื้อตอนต้นปี ดังนั้นต้องรอครบปีค่อยปรับปีหน้า จะมาดูอัตราเบี้ยประกันภัยกันใหม่ ว่าจะปรับอย่างไร”

ด้านกรรมการผู้อำนวยการบริษัทแอกซ่าประกันภัย กล่าวว่า สาเหตุที่ถอนตัวออกจากโครงการ เพราะในทางปฏิบัติเกิดปัญหา อย่างเวลาขายต้องออกกรมธรรม์ถึง 3 ฉบับ คือกรมธรรม์อัคคีภัยทั่วไป กรมธรรม์ภัยพิบัติ และกรมธรรม์ภัยธรรมชาติ ลูกค้า 1 รายต้องออก 3 กรมธรรม์ ขณะที่การลงบันทึกบัญชีก็มีปัญหา ต้องแยกบันทึกทั้งส่วนของประกันอัคคีภัยทั่วไป ส่วนของประกันภัยพิบัติที่ประกันภัยต่อไปให้กับกองทุนฯ ส่วนที่รับประกันภัยไว้เอง ทำให้การออกกรมธรรม์ล่าช้า

อีกจุดที่ห่วงคือ เรื่องการเคลม ระเบียบของกองทุนฯ เขียนว่าหากลูกค้าจะซื้อประกันภัยธรรมชาติ ต้องซื้อประกันภัยพิบัติด้วย ไม่สามารถซื้อเฉพาะภัยธรรมชาติอย่างเดียวได้ เวลาขายยุ่งยาก เพราะลูกค้ารู้ว่าเคลมภัยพิบัติลำบาก จึงอยากจะซื้อแค่ภัยธรรมชาติอย่างเดียว ซึ่งหากมีเคลมเกิดขึ้น ถ้าหากความเสียหายไม่ถึง 5,000 ล้านบาท หรือครม.ไม่ประกาศเป็นภัยพิบัติ ไม่สามารถเคลมภัยพิบัติได้ อย่างกรณีน้ำท่วมหลายจังหวัดที่ผ่านมา ไม่สามารถเคลมภัยพิบัติได้ เคลมได้เฉพาะภัยธรรมชาติเท่านั้น

ข่าวจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งให้ความเห็นเพิ่มว่า เชื่อว่าจะมีบริษัทประกันภัยทยอยถอนตัวออกจากกองทุนฯ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เพราะเวลาต่อสัญญารอบใหม่กับผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) บริษัทจะไปเจรจาขอลดเบี้ยประกันลำบาก ยิ่งถ้าไม่เกิดภัยที่มีความรุนแรงเป็นภัยพิบัติเลย เท่ากับกองทุนฯ ไม่ต้องจ่ายเลย ขณะที่ภัยธรรมชาติปกติอย่างน้ำท่วม ทางผู้รับประกันภัยต่อต้องเป็นผู้จ่ายอยู่แล้ว เพราะเงื่อนไขของประกันภัยต่อ อะไรที่เกินจากที่บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงภัยไว้เอง ผู้รับประกันภัยต่อเป็นผู้จ่าย เท่ากับกองทุนฯ ไม่ได้ช่วยลดภาระรีอินชัวเรอส์เลย

“อย่างปีก่อนบริษัทประกันภัยแต่ละแห่งต่อสัญญากับรีอินชัวเรอส์ โดยจ่ายเบี้ยประกันภัยความเสียหายส่วนเกิน (excess of loss) ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่แพงไปแล้ว พอตั้งกองทุนฯ ขึ้นมา แทนที่จะเก็บเบี้ยประกันภัยที่ขายได้ไว้เอง ต้องส่งประกันภัยต่อไปให้กับกองทุนฯ ทั้งที่ซื้อประกันภัยต่อไว้แล้ว เท่ากับเสียเบี้ยประกันภัยต่อ 2 ทาง คือรีอินชัวเรอส์ และกองทุนฯ แทนจะเก็บเบี้ยประกันภัยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คือเสียแค่ทางเดียว เพราะอย่างไรบริษัทต้องซื้อสัญญาประกันภัยต่อเองอยู่แล้วเพื่อขายให้กับลูกค้า เพราะกองทุนฯ คุ้มครองจำกัด”

อนึ่ง ตอนที่เริ่มเปิดตัวกองทุนฯเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีบริษัทประกันภัยเซ็นสัญญาเข้าร่วมถึง 54 บริษัท แต่จากข้อมูลที่สำนักงานคปภ. รายงานยอดการทำประกันภัยพิบัติถึงวันที่ 21 กันยายน 2555 มีบริษัทประกันภัยขายเพียง 48 บริษัทเท่านั้น ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีทั้งหมด 63 บริษัท ตัดบริษัทประกันสุขภาพออก 5 บริษัทเหลือ 58 บริษัท

ที่มา : สยามธุรกิจ