ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

ประกันภัย แบกสินไหมเพิ่ม หลังปรับความคุ้มครอง

อุ้มเหยื่อ รถชน ปรับค่ารักษาใหม่ เบิกได้เพิ่มขึ้น ประกันภัย แบกรับสินไหมเพิ่มอีก 2%

ประกันภัย แบกสินไหมเพิ่ม หลังปรับความคุ้มครอง

สิงหาคม

18

“ผู้ประสบภัยจากรถ” ได้รับประโยชน์ที่ดีขึ้น เพราะหลังจาก “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” ได้ปรับปรุงความคุ้มครองในกรมธรรม์ “ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535” หรือ “ประกันภัยรถภาคบังคับ” กรณีได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดขยับอีกครั้ง เป็นการปรับ “มาตรฐานราคากลางค่ารักษาพยาบาล” ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่บริษัทประกันภัย หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่เคยปรับปรุงเลย เพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจแ ละสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไข “บัญชีอัตราค่ารักษาพยาบาล” แล้ว โดยได้ออกประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เรื่อง มาตรฐานกลางของรายการ และจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่บริษัท ประกันภัย หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ลงนามแล้ว โดยประกาศฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560

สำหรับมาตรฐานกลางของรายการ และจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล ตามประกาศฯ ที่มีการปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยได้เทียบเคียงรายการของประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับเดิม ร่วมกับราคามาตรฐานค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุข และกรมบัญชีกลาง ทำให้มีการปรับราคากลางการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 29 รายการ โดยไม่มีการปรับลดราคาลงเลย

อาทิ ค่าตรวจวินิจฉัยพิเศษทางสมอง มีการปรับเพิ่มราคาจาก 4,000 บาท เป็น 5,000 บาท เพิ่มขึ้น 25% ค่าบริการพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล สำหรับผู้ป่วยในทั่วไป จาก 360 บาท เป็น 500 บาท เพิ่มขึ้น 39% หรือแม้กระทั่งค่ารถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดอัตราไว้สำหรับในเขตจังหวัด เดิมให้เบิกได้ 500 บาทต่อครั้ง นอกเขตจังหวัดเบิกเพิ่มได้กิโลเมตรละ 90 สตางค์ ปรับเพิ่มเป็นระยะทาง 10 กม.แรก สามารถเบิกได้ 1,100 บาท กรณีเกินกว่า 10 กิโลเมตร คิดเพิ่มได้อีกกิโลเมตรละ 10 บาทเป็นต้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ มอบหมายให้ คปภ.ศึกษาแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการ เกี่ยวกับการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถนอกสถานพยาบาล รวมถึงค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถนั้น ผู้ประสบภัยควรต้องได้รับการดูแล และได้รับการปฐมพยาบาลเริ่มตั้งแต่สถานที่เกิดเหตุ ก่อนส่งถึงมือแพทย์ที่ให้การรักษา ซึ่งจะทำให้การดูแลผู้ประสบภัยจากรถมีคุณภาพดีขึ้นในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะที่ความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ฯ ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2557 ได้ปรับค่าเสียหายเบื้องต้น ในส่วนค่ารักษาพยาบาลจาก 15,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาท ต่อมาในปี 2559 ปรับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงสุดจาก 50,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท รวมไปถึงกรณีเสียชีวิตและกรณีสูญเสียอวัยวะ แต่ราคากลางค่ารักษาพยาบาลภายในที่ให้เบิกได้ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้การดูแลผู้ประสบภัยจากรถไม่สมบูรณ์ การปรับปรุงในครั้งนี้จะทำให้การดูแลผู้ประสบภัยจากรถสมบูรณ์มากขึ้น

แน่นอนว่า การขยับ “ราคากลางค่ารักษาพยาบาล” ในครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจประกันวินาศภัย เพราะ “ค่าสินไหมทดแทน” ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ต้องขยับ “เพิ่มขึ้น” อีกแน่นอน โดยก่อนจะปรับเพิ่มขึ้น คปภ.พิจารณาแล้วจะทำให้ค่าสินไหมขยับขึ้นแค่ไหน เท่าที่ได้มีการคำนวณกัน จะทำให้อัตราสินไหมทดแทน (Loss Ratio) รวม ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.ฯ ขยับเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% หรือประมาณ 160-320 กว่าล้านบาท จากปัจจุบันธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.ประมาณ 160,00 กว่าล้านบาท ซึ่งไม่มากหากเทียบกับการดูแลผู้ประสบภัยจากรถได้เพิ่มขึ้นมากกว่า

ขณะที่ “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ก็ต้องแบกสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2-3% เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ จ่ายค่าเสียหายให้ผู้ประสบภัยจากรถประมาณปีละ 120 ล้านบาท จำนวนผู้ประสบภัยจากรถ 6,000 รายก็ไม่เยอะ ด้วยกองทุนฯ จ่ายให้ผู้ประสบภัยที่ถูกรถไม่มี ประกันภัย ชน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด ส่วนกรณีอื่นๆ อาทิ ชนแล้วหนี เป็นต้น

“การปรับปรุงในครั้งนี้ช่วยลดภาระให้กับโรงพยาบาลด้วย ซึ่งตลอด 13 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีต้นทุนรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หากไม่ปรับราคากลางค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ต้นทุนโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขยับราคากลางค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จะทำให้โรงพยาบาลปรับตัวได้ดีขึ้น โรงพยาบาลของรัฐบาลได้ค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลในชุมชน การดูแลผู้ประสบภัยจากรถจะทำได้ดีขึ้น ไม่รังเกียจรังงอนเหมือนแต่ก่อน ทำให้ระบบเดินไปได้คล่องตัวมากขึ้น”

ถามถึงการปรับปรุงความคุ้มครอง กรณีเสียชีวิตจาก 300,000 บาทเป็น 500,000 บาท ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนา ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. ซึ่ง “บอร์ด คปภ.” เห็นชอบในหลักการไว้แล้วนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากการขยับในส่วนนี้มีเงื่อนไขว่า จะต้องปรับเบี้ย ประกันภัย รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นถึงจะเพิ่มความคุ้มครองตามนี้ได้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราเบี้ย ประกันภัย รถจักรยานยนต์ 300 บาทต่อคันต่ำมาก ใช้เบี้ย ประกันภัยรถยนต์ ไปอุดหนุนอยู่จึงยังอยู่ได้ แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ดี การปรับเบี้ย ประกันภัย รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 50-100 บาทต่อคัน จะเป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย และจะกระทบกับรัฐบาล ทางเลขาธิการจึงให้ชะลอออกไปก่อน

ส่วนการขยายความคุ้มครองไปถึงทรัพย์สินบุคคลภายนอกด้วยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมาย ซึ่งการปรับปรุงความคุ้มครองในส่วนนี้ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ต้องเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

อย่างไรก็ดี กรณีการเพิ่มราคากลางค่ารักษาพยาบาลนั้น ประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ความเห็นว่า คงไม่ได้ทำให้ บริษัทประกันภัย มีสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นมาก เพราะปกติ บริษัทประกันภัย จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามบิลที่โรงพยาบาลตั้งเบิกมาอยู่แล้ว ส่วนใหญ่สูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่จ่ายต่ำกว่า ซึ่งจำเป็นต้องขยับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามอัตราใหม่ โดย คปภ.ต้องการให้มีมาตรฐานด้านราคากลางค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม ทำให้ บริษัทประกันภัย รวมไปถึงกองทุนฯ สามารถใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลได้

เครดิต: สยามอินชัวร์ นิวส์

ที่มา : ทูเดย์อินชัวร์