ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ธุรกิจประกันภัยปี 56 คาดเบี้ยแตะ 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก

ผ่อนผันการดำรงกองทุนประกันภัย (RBC) มาตรการกระตุ้นองรัฐบาล การคืนภาษีรถคันแรก พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติ

ธุรกิจประกันภัยปี 56 คาดเบี้ยแตะ 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก

ธันวาคม
7

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ""ธุรกิจประกันวินาศภัยปี2556 : คาดเบี้ยประกันจะแตะ 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก" ระบุว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2555 ที่แม้จะเผชิญกับหลายปัจจัยกระทบ โดยเฉพาะหลังเหตุอุทกภัยปลายปี2554 แต่ก็สามารถรักษาการขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามการประคองอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2556 แม้จะยังคงอยู่ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศ และการปรับตัวเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ น่าจะช่วยให้ธุรกิจมีความพร้อมมากขึ้น สำหรับการรับมือกับสนามแข่งขันที่มีแนวโน้มเสรีมากขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมจะแตะ 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก

ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยปี2555 เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับตรงรวม มีโอกาสเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ถึง 25-28% สู่ระดับ 1.75-1.8 ล้านบาท จากที่ขยายตัว 25.32% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี2555โดยมีเบี้ยรับตรงรวม 1.15 ล้านบาท แม้จะเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่จากมหาอุทกภัยปลายปี 2554 ที่กระทบต่อฐานะการดำเนินงานของหลายบริษัท แต่หลายปัจจัยพิเศษในปีนี้ มีส่วนช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ ดังนี้

- การผ่อนผันเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) บรรเทาผลกระทบชั่วคราวที่เกิดขึ้น ในช่วงรอยต่อของการสำรองจ่ายค่าสินไหมให้ลูกค้า ขณะที่บริษัทประกันภัยเอง ยังต้องรอการเคลมสินไหมคืนจากบริษัทรับประกันภัยต่อ มีผลให้ธุรกิจประกันในภาพรวม สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ติดภาระเรื่องการเพิ่มทุนเฉพาะหน้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ผ่อนปรนเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเงินกองทุนลง ประกอบด้วย

  • ผ่อนผันให้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยคืนจากการประกันภัยต่อ ไม่ต้องคำนวณเป็นความเสี่ยง
  • ผ่อนผันให้ไม่ต้องรับรู้ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของคู่สัญญาที่รับประกันภัยต่อ
  • ผ่อนปรนให้ไม่ต้องจัดหาทรัพย์สินหนุนหลัง ในส่วนความเสียหายที่เกินกว่าวงเงินการทำประกันภัยต่อ

- การเรียกความเชื่อมั่นโดยทางการผ่านการจัดตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ หลังจากที่ในระยะแรกภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาการซื้อประกันภัยต่อ และถูกปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันสูงถึง 20% (โดยเฉพาะประเภทการรับประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และประกันอัคคีภัย (Fire) ที่มีอนุสัญญาคุ้มครองภัยธรรมชาติ) ถึงแม้ว่านับจากที่กองทุนเริ่มดำเนินการรับประกันภัยต่อจนถึงปัจจุบันกว่า 6 เดือน (28 มีนาคม – 7 พฤศจิกายน 2555) จะมีผู้ซื้อประกันภัยพิบัติเพียง 388,000 กรมธรรม์คิดเป็นทุนประกันภัยรวมเพียง 44,879 ล้านบาท อันทำให้กองทุนฯ มีการปรับลดคาดการณ์ทุนประกันภัยรวมในปีนี้ลงเป็นลำดับ จากกว่า 2 แสนล้านบาท เป็นประมาณ 50,000 ล้านบาทในสิ้นปี2555 พร้อมทั้งปรับปรุงเกณฑ์การขายประกันภัยพิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยล่าสุดกำหนดให้บริษัทประกันภัย ที่คิดอัตราเบี้ยประกันภัยต่ำกว่ากองทุนตั้งแต่ 20% ขึ้นไป สามารถรับประกันภัยไว้เองได้โดยไม่ต้องผ่านกองทุนฯ ทั้งนี้ การที่บริษัทประกันภัยมีความสามารถในการรับประกันภัย รวมถึงจัดหาบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศได้ โดยพึ่งพิงกองทุนฯ น้อยกว่าที่ประมาณการไว้ เป็นผลจากหลายปัจจัยรวมกัน ได้แก่

ประการแรก การประกาศเกณฑ์ภัยพิบัติที่เมื่อเวลาผ่านไป คนเริ่มประเมินโอกาสการเกิดภัยพิบัติตามนิยามว่ามีความเป็นไปได้น้อย

ประการที่สอง กลุ่มเป้าหมายสำคัญของกองทุนฯ คือนิคมอุตสาหกรรมนั้น มีการทำประกันภัยพิบัติต่ำกว่าที่คาดไว้มาก แต่หันไปทุ่มงบประมาณสร้างเขื่อนป้องกันตนเอง

ประการที่สาม กรมธรรม์บางส่วนหมดสัญญาในช่วงปลายปี ทำให้เห็นว่าความเสี่ยงที่ลดลงในปีนี้มี ความเป็นไปได้ที่เบี้ยประกันภัยจะปรับลดลงอีกในปีหน้า จึงชะลอการทำประกันภัย

นอกจากนี้ประการที่สี่ บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ เริ่มเข้ามาแข่งขันมากขึ้น โดยเสนอเบี้ยประกันภัยที่ต่ำกว่ากองทุน 20% ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องส่งเบี้ยเข้ากองทุนฯ

- การแข่งขันด้านราคาที่เบาลง โดยบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่พร้อมใจกันปรับอัตราเบี้ยประกันภัย ด้วยการใช้พิกัดอัตราเบี้ยขั้นสูงในการคำนวณเบี้ยประกันภัย (คปภ.จะอนุมัติพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นช่วง สำหรับให้บริษัทเสนอขาย ซึ่งด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในอดีต ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งต่างแข่งขันด้านราคา โดยใช้พิกัดอัตราเบี้ยขั้นต่ำเป็นฐานคำนวณ) เพื่อชดเชยความเสียหายในปีก่อน ประกอบกับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยต่อ (Reinsurance) ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงก่อนการจัดตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น

- มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของรัฐบาล ด้วยการคืนภาษีรถคันแรกสูงสุด 1 แสนบาท/คัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในปีนี้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 75-80% เป็นกว่า 1.4 ล้านคัน ช่วยเติมโอกาสการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ จากรถซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 55-60% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งหมด

- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากความเกรงภัย อาทิ ผลิตภัณฑ์การรับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่ครอบคลุมความคุ้มครองภัยพิเศษเพิ่มในวงเงินไม่สูง เช่น 1-3 แสนบาท ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการปิดความเสี่ยงแต่มีกำลังซื้อจำกัด และผลิตภัณฑ์ประกันอัคคีภัย ที่มีอนุสัญญาเพิ่มเติมภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังมีการปรับกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้า ผ่านทางการเพิ่มช่องทางขาย และการเปิดสาขาบริการในพื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก ขณะที่ความเกรงภัยของประชาชน ยังส่งผลให้ประกันภัยประเภทอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) มีอัตราเติบโตสูงมากตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี2556 อาจเติบโตต่อแต่ในอัตราที่ช้าลงเป็น 12-15% เทียบกับที่ประเมินว่าจะขยายตัวถึง 25-28% ในปี2555อันเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปี 2555 และอีกหลายปัจจัยที่สดใสน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจในปี2556 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดหวังอัตราการเติบโตอย่างมากเพียงเสมอตัวหรือเท่ากับปี2555 ที่ระดับประมาณ 4.5-5.5% ขณะที่ปัจจัยพิเศษจากมาตรการรถคันแรก จะหมดแรงส่งในงวดครึ่งแรกของปี2556ตามการสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันการรับรถของทางการ รวมถึงอัตราเบี้ยประกันที่เคยถูกชาร์จค่าความเสี่ยงเพิ่มเป็นพิเศษในปี2555 เริ่มปรับลดต่ำลง แม้จะยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิมก็ตาม

การปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย อาจส่งผลต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยบ้างแต่ไม่น่าจะมากนัก โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และ คปภ. ร่วมกันกำหนดและจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 โดยห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ หรือกำหนดเงื่อนไขขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก เช่น ให้ผู้บริโภคทำประกันภัยกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และห้ามส่งเสริมการขายในลักษณะชิงโชคจับฉลาก เว้นแต่เป็นกรณี ลด แลกแจก แถม

ทั้งนี้เนื่องจากช่องทางการขายผ่านธนาคารของธุรกิจประกันวินาศภัย มีส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียง 13.7% (ณ. สิงหาคม 2555) อีกทั้งยังมีการกระจายตัวไปยังรายย่อยค่อนข้างมาก โดยมีจำนวนผู้เอาประกันรวมเกือบ 7 ล้านราย โดยเฉพาะการรับประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็น 3 หมวดหลักที่มีเบี้ยรับตรงรวมเกือบ 90% ของช่องทางขายผ่านธนาคาร นอกจากนี้ กรณีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อทุกรายต่างกำหนดไว้เหมือนกัน ซึ่งผู้บริโภคมีโอกาสเลือกบริษัทประกันภัยเองได้อยู่แล้ว (โดยเฉพาะในการซื้อประกันปีต่อไป) ขณะที่ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และประกันอัคคีภัยนั้น มีจำนวนเบี้ยประกันภัยไม่สูง เมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจัดเป็นรายจ่ายจำเป็น ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อด้วยความสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม เบี้ยประกันภัยรับตรงรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2556 ที่ยังเติบโตด้วยเลขสองหลักนั้น มาจากองค์ประกอบที่จำแนกตามประเภทการรับประกันภัย ที่มีความน่าสนใจในหลายมิติดังสรุปต่อไปนี้

- เบี้ยประกันภัยประเภทเบ็ดเตล็ด ยังคงรักษาอันดับหนึ่งในการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2556 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 26-33% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากโอกาส การขยายตัวของการรับประกันภัยประเภทอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ที่มีน้ำหนักอยู่ 1 ใน 3 ของประกันภัยเบ็ดเตล็ด แต่เนื่องจากอัตราการถือครองกรมธรรม์ประเภทนี้ของไทย ยังค่อนข้างต่ำเพียงประมาณ 10% ของจำนวนประชากร ประกอบกับการรุกช่องทางการขายผ่านธนาคารเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองเพิ่ม เพื่อจับลูกค้าระดับบน และขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาศัยจุดแข็งด้านความก้าวหน้าของโรงพยาบาลและการแพทย์ไทย ทำให้แม้เบี้ยประกันภัยประเภท PA จะขยายตัวสูงกว่า 20% มาโดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัวของธุรกิจนี้ และจะยังมีโอกาสเติบโตคู่เศรษฐกิจไทยไปอีกในระยะกลาง ส่วนการรับประกันภัยประเภทความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ที่มีน้ำหนักรองลงมา โดยอยู่ที่ระดับประมาณ 28-30% คาดว่าอัตราการเติบโตคงไม่หวือหวาเหมือนปี 2555 เนื่องจากพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยจากระดับความเสี่ยงภัย คงปรับลดลงมา โดยเฉพาะหากในปี2555 ไม่มีการเคลมสินไหมรายใหญ่เกิดขึ้น

- การรับประกันภัยรถยนต์ในปี 2556 ยังเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ด้วยเบี้ยประกันภัยที่ยืนอยู่ในระดับกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยมีมาตรการรถคันแรกเป็นทั้งปัจจัยหนุนและกดดัน เนื่องจากการยืดระยะเวลาส่งมอบรถในโครงการรถคันแรก ออกไปเป็นกลางปี2556 มีส่วนช่วยให้ยอดขายรถใหม่ในปี 2556 น่าจะปิดการขายได้มากถึง 1.3 ล้านคัน แต่ก็เป็นปัจจัยกดดันด้วยฐานที่สูงในปี 2555 ที่ประมาณ 1.4 ล้านคัน

- การประกันภัยประเภททะเลและขนส่ง แม้จะมีแรงหนุนจากการคาดการณ์มูลค่าการส่งออก และนำเข้าของไทย ที่จะฟื้นตัวขึ้นในปี 2556 ตามปริมาณการค้าโลก แต่พอร์ตการรับประกันภัยประเภทนี้ต่ำเพียง 2-3% อีกทั้งส่วนใหญ่ยังส่งประกันภัยต่อนอกประเทศด้วย นอกจากนี้ ด้วยลักษณะเฉพาะของธุรกิจ ทำให้ค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงการเดิม ทั้งผู้เล่นและผลิตภัณฑ์

- การประกันอัคคีภัยในปี 2556 มีแนวโน้มหวนกลับมาสู่การเติบโตในระดับพื้นฐานดังเดิม จากผลของฐานเปรียบเทียบ หลังจากที่ขยายตัวโดดเด่นด้วยปัจจัยพิเศษในปี 2555 โดยผู้ถือกรมธรรม์ที่มีการซื้ออนุสัญญาความคุ้มครองภัยเพิ่มเติมในปี 2555 ส่วนใหญ่น่าจะต่ออายุสัญญา เนื่องจากค่าเบี้ยประกันภัยที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับวงเงินความคุ้มครองที่ได้รับ

กระแสการเปิดเสรีตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) 10 ประเทศ ในปี 2558 ในภาคธุรกิจประกันภัยเป็นเรื่องที่ทั้ง คปภ.และสมาคมธุรกิจประกันวินาศภัย เร่งว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาศักยภาพตลาดประกันภัยในอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางแผนแม่บทเปิดเสรีภาคประกันภัยของ คปภ. ตลอดจนเพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบ และมองหาโอกาสของบริษัทประกันภัยไทยในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในราวกลางปี2556

โดยเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดเตรียม โครงการประกันภัยรถยนต์ผ่านแดนอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อรองรับการสัญจรคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การค้าและการท่องเที่ยว ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะเปิดมากขึ้นหลังปี 2558 ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลาง หรือ “Hub” โลจิสติกส์ของอาเซียน มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจประกันภัยรถยนต์ได้อีกมาก เช่นเดียวกับความก้าวหน้าในด้านบริการสาธารณสุขของไทย ที่ทำให้ไทยมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจด้านการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่การเตรียมความพร้อมของบริษัทประกันภัยไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำหนดการที่คปภ. จะปรับเพิ่มอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ที่เหมาะสมสำหรับการเข้าแทรกแซงบริษัท (Solvency CAR) ตามเกณฑ์ Risk Based Capital (RBC) เป็น 140% จากปัจจุบันที่125% ในวันที่1 มกราคม 2556

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประกันวินาศภัยไทย สามารถดำเนินการตามลำดับความเข้มข้น ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของทางการได้ ผ่านการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่อาจจะเห็นการควบรวม หรือการเปลี่ยนเจ้าของ/ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น อันจะช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดต่อขนาด รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรับประกันภัยได้มากขึ้น ก็น่าที่จะเป็นปัจจัย สำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีความพร้อมมากขึ้น ในการรับมือกับสนามการแข่งขัน ที่กำลังมีแนวโน้มเปิดกว้างให้กับผู้เล่นรายใหม่จากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาในตลาดไทยจากการนับถอยหลังเข้าสู่ AEC

นอกจากนี้การมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับความเสี่ยงภัยไว้เองได้มากขึ้น รวมถึงจะเป็นการขยายโอกาสในการรับประกันภัยต่อ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นจุดอ่อนของบริษัทประกันภัยไทย อันมาจากข้อจำกัดด้านขนาดเงินกองทุน

บทสรุปภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2555 เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับตรง มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นในรอบหลายทศวรรษ ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการรถคันแรกของรัฐบาล การพร้อมใจปรับขึ้นอัตราเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันต่าง ๆ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของแบบประกันภัย เพื่อให้มีรายได้จากเบี้ยประกันภัยรับเข้ามาเพิ่มขึ้น สำหรับชดเชยความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ตลอดจนการทำการตลาดเชิงรุก ผ่านช่องทางการขายธนาคารพาณิชย์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2555 น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25-28% เป็นประมาณ 175,000-180,000 ล้านบาท หลังจากที่ตัวเลขจริงในช่วง 8 เดือนแรก มีเบี้ยรับตรงรวม 114,697.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.32% การขยายตัวในอัตราเร่งของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2555 นับเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หลังจากทีธุรกิจประกันวินาศภัยโดยรวม ต้องรับภาระความเสียหายจากเหตุมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2554 กว่าแสนล้านบาท ขณะที่ผลกระทบต่อฐานะของบริษัทประกันภัยไทย โดยรวมยังค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยท้าทายอื่นที่รออยู่ข้างหน้า และธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด การเข้าสู่เกณฑ์การกำกับดูแลภายใต้ RBC อย่างเต็มรูปแบบ และการเปิดเสรีภาคการเงินการประกันภัยตามกรอบ AEC ที่แต่เดิมกำหนดไว้ในปี2563

สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2556 คาดว่าระบบจะมีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมที่แตะระดับ 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก แต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลงเป็นประมาณ 12-15% จากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปี 2555 และแรงส่งจากนโยบายรถคันแรก ซึ่งคาดว่าอาจมีอยู่เฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ตลอดจนการทยอยปรับลดลงของอัตราเบี้ยประกันภัย เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากถูกเรียกเก็บในอัตราส่วนเพิ่ม จากค่าความเสี่ยงภัยพิเศษในปี 2555 อย่างไรก็ดีการประเมินว่า ธุรกิจจะยังสามารถรักษาแรงส่งการขยายตัวไว้ได้ในปี 2556 ท่ามกลางการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ใกล้เคียงกับปีก่อนนั้น มาจากปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ ความสำเร็จในการขยายฐานธุรกิจประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการรักษาอัตราการต่ออายุกรมธรรม์ ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนลูกค้ารายใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกันวินาศภัยให้มีมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการขยายตลาดการรับประกันภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิิจ