ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ฟินันซ่าฯ ขายไม่ออกขาดทุนเยอะ ต้องโปะ 2 พันล้านถึงจะเอาอยู่

นักลงทุนรายเก่าและรายใหม่แสดงความสนใจตลอด แต่ยังไม่มีใครตัดสินซื้อกิจการ ผลขาดทุนเพิ่มขึ้น เงินกองทุนประกันภัยติดลบ 1,300 ล้านบาท

ฟินันซ่าฯ ขายไม่ออกขาดทุนเยอะ ต้องโปะ 2 พันล้านถึงจะเอาอยู่

ตุลาคม
17

ชะตากรรมบริษัท ฟินันซ่าประกันชีวิต จำกัด แขวนอยู่บนเส้นด้าย เวลายิ่งเหลือน้อยลงทุกที เมื่อเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวชัดเจนให้เวลาฟินันซ่าแก้ปัญหาฐานะการเงินจนถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเด็ดขาดตามกระบวนการของกฎหมายทันที ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้ออีกต่อไป หลังจากผ่านมากว่า 2 ปีนับแต่ภาครัฐเข้าควบคุมกิจการ เมื่อ 26 เมษายน 2553 ยังหาผู้ร่วมทุนไม่ได้

“ที่ผ่านมาถือว่าเราได้ให้เวลาแก้ปัญหามาพอสมควรแล้ว สิ้นปีนี้ทางคณะกรรมการควบคุมบริษัทฟินันซ่า และคณะกรรมการคปภ. จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร”

สำหรับสถานการณ์ของฟินันซ่าในขณะนี้ ข่าวจากคปภ.ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่แสดงความสนใจตลอด แต่ยังไม่มีใครตัดสินซื้อกิจการ สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาต้องใส่เงินเข้ามามากขึ้น โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2555 ฟินันซ่าขาดทุนสะสม 1,200 ล้านบาท เงินกองทุนติดลบ 1,300 ล้านบาท ขณะที่กฎหมายกำหนดบริษัทต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ 750 ล้านบาท เท่ากับผู้ร่วมทุนรายใหม่จะต้องใส่เงินเข้ามาอย่างต่ำ 2,050 ล้านบาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมให้หมด และให้เงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย ฟินันซ่าฯ จึงจะเปิดดำเนินธุรกิจต่อไปได้

“สาเหตุที่ทำให้บริษัทขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการใช้กฎการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการคำนวณเงินสำรองใหม่จากเดิมคำนวณจาก มูลค่าเบี้ยประกันรับสุทธิ (Net Premium Value : NPV) เปลี่ยนเป็นมูลค่าเบี้ยประกัน ภัยรับรวม (Gross Premium Value:GPV) ทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มจากเดิมอีกหลายร้อยล้านบาท ผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่จะเข้ามา คิดหนักต้องใส่เงินเยอะขึ้นจากเดิมมองไว้แค่ 1,500 ล้านบาทน่าจะเอาอยู่”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีผู้สนใจรายใหม่เข้ามาติดต่อกับคณะกรรมการควบคุมฯ โดยเข้ามาพบหลายครั้งแล้ว เท่าที่ทราบเป็นคนไทยที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก แต่ไม่รู้จะซื้อกิจการเองหรือจะติดต่อให้กับผู้สนใจจากต่างประเทศอีกที ซึ่งขณะนี้กำลังดูข้อมูลทางการเงินของบริษัทอยู่ โดยการหาผู้ร่วมทุนให้กับฟินันซ่าฯ นอกจากผ่านทางคณะกรรมการควบคุมบริษัทแล้ว ทางเลขาธิการคปภ.ได้เสนอให้มีการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดหาผู้ร่วมทุนให้กับฟินันซ่าประกันชีวิตอีกทางหนึ่งด้วย จะมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษากันเร็วๆ นี้

ข่าวกล่าวว่า หากถึงที่สุดฟินันซ่าไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ได้และต้องถูกปิดกิจการ ซึ่งเป็นการดำเนินการทางกฎหมายขั้นตอนสุดท้าย ถ้าดูจากงบการเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม บริษัทมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับประมาณ 80,000 ฉบับ มีภาระหนี้สินต่อลูกค้าตามมูลค่าบัญชีประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ภาระหนี้สินจริงที่จะคำนวณตามมูลค่าเวนคืน เงินสดอาจจะลดลงอีก 600 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย เมื่อบริษัทถูกปิดกิจการ ต้องเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีตามปกติของการปิดบริษัททั่วไป

หากฟินันซ่าถูกปิดกิจการ จะเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกในรอบ 40 ปี และแห่งที่สองนับจากประเทศไทยมีพ.ร.บ. ประกันชีวิตเมื่อปี 2510 โดยบริษัทแรกที่ถูกปิดกิจการไปเมื่อปี 2512 คือบริษัท นครหลวงประกันชีวิต จำกัด โดยฟินันซ่าฯ นับเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ถูกภาครัฐควบคุมกิจการยาวนานที่สุด

ส่วนกองทุนประกันชีวิตและกองทุนประกันวินาศภัยที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ตาม พ.ร.บ. ประกันชีวิตและ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย เพื่อจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย ที่ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแล้ว บริษัทแห่งนั้นล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งทางคปภ. เสนอแก้ไขกฎหมายให้กองทุนฯ จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยทันทีที่บริษัทประกันภัยปิดกิจการ ไม่ต้องรอกระบวนการล้มละลายนั้น

ทางผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว กำลังจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ ก่อนที่จะเสนอต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ประมาณมิถุนายน หรือกรกฎาคมปีหน้า เมื่อถึงเวลานั้นผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยกับบริษัทที่ถูกปิดกิจการ จะได้รับการชดเชยทันทีรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยมีเม็ดเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท กองทุนประกันวินาศภัยประมาณ 1,000 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าในการสะสางหนี้สินบริษัทประกันวินาศภัย 4 บริษัทที่ถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 1. บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด 2. บริษัท เอ.พี. เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด 3. บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนลอินชัวรันส์ จำกัด และ 4. บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด

ในส่วนของ เอ.พี. เอฟ.ซึ่งผู้ชำระบัญชียื่นฟ้องศาล กรรมการชุดเดิมยักยอกเงินบริษัท เอาตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 256 ล้านบาทไปใช้หนี้สินส่วนตัวนั้น ล่าสุดศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งทางผู้ชำระบัญชีจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ส่วนวิคเตอรีฯ ที่ผู้ชำระบัญชียื่นฟ้องกรรมการชุดเดิม เอาพันธบัตรของบริษัทมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาทไปขึ้นเงินกับธนาคาร หลังจากบริษัทถูกปิดแล้วซึ่งไม่สามารถทำได้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ให้กรรมการชุดเดิมเอาเงินมาจ่ายคืนบริษัทผ่านทางผู้ชำระบัญชี

สำหรับลิเบอร์ตี้ประกันภัย ล่าสุดมีผู้ติดต่อขอซื้ออาคารสำนักงานใหญ่ และที่ดินบนถนนพัฒนาการ ซึ่งมีเนื้อที่ 19 ไร่ ในราคาประมาณ 400 ล้านบาท ทางผู้ชำระบัญชีอยู่ระหว่างตัดสินใจ โดยลิเบอร์ตี้มีหนี้สินประมาณ 500 ล้านบาท หากเจรจาได้ หนี้สินคงจะลดลงเหลือประมาณ 80-90% ของ 500 ล้านบาท โดยลิเบอร์ตี้ทางผู้ชำระบัญชีคงไม่ต้องยื่นล้มละลาย เนื่องจากมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่เอ.พี.เอฟ. และวิคเตอรี คงจะต้องยื่นล้มละลาย เพราะแทบไม่มีทรัพย์สิน โดยเอ.พี.เอฟ.มีหนี้สินประมาณ 400 ล้านบาท วิคเตอรีมีหนี้สินประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนสัมพันธ์มีหนี้สินประมาณ 1,300 ล้านบาท รวม 4 บริษัท มีหนี้สินประมาณ 2,200 ล้านบาท

ที่มา : สยามธุรกิจ