ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยไซส์เล็กใกล้สูญพันธุ์

คปภ. จับตาบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิด ดำรงเงินกองทุนอยู่ที่ 125% ตลอดเวลา บริษัทประกันภัยที่รอดต้องมีทุนหนา

ประกันภัยไซส์เล็กใกล้สูญพันธุ์

กรกฎาคม
31

ถึงเวลาที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็กจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละแห่งร่อยหรอ จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมใหญ่ ถูกเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) การแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2556 การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) โอกาสถูกสั่งปิดตายสูง

การพุ่งเป้าไปที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็ก เพราะมีความเสียเปรียบด้านเงินกองทุนที่เล็ก ต้นทุนการเงินสูงและยังเป็นบริษัทที่เจ็บหนักจากน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เพราะรับประกันลูกค้ารายย่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่รับความเสี่ยงไว้เอง นอกจากจะถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับตาดูอย่างใกล้ชิด แล้วผ่านเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามประเภทความเสี่ยง ที่กำหนดให้ต้องดำรงเงินกองทุนให้อยู่ที่ 125% ตลอดเวลา

จากที่เกณฑ์ คปภ.กำหนดไว้ 100% และจะต้องจัดการแปลงสภาพบริษัทเป็นมหาชนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2556 การเปิดเออีซีในปี 2558 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า บีบให้ทุกบริษัทต้องเร่งจัดระเบียบฐานะการเงิน กำลังคน และเทคโนโลยีของตัวเองให้เข้มแข็ง และพร้อมที่จะสู้กับบริษัทประกันภัยต่างชาติที่จะไหลบ่าเข้ามา แย่งชิงลูกค้าที่อยู่อย่างจำกัดในไทย บริษัทที่จะอยู่รอดได้ต้องมีทุนหนา อย่างบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น และบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่ การช่วยเหลือกันและกันเข้าทำนองสุภาษิตไทย เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ จะไม่หลงเหลืออีกต่อไป ณ วันนี้ บริษัทประกันภัยถูกคู่แข่งขันซึ่งมีสถานะเป็นคู่ค้าทำหน้าที่ตรวจสอบด้วย หากพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เรื่องถึง คปภ.แน่ เพราะคู่แข่งโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ไม่ต้องการเสียเวลา เข้ามาแก้ปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น และต้องการตัดทิ้งบริษัทที่ไร้ความเป็นมืออาชีพออกจากวงการ

กรณีประกันภัยมีปัญหาเรื่องทุน อาทิบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) เมื่อปี 2554 บริษัท เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ เมื่อปี 2553 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย เมื่อปี 2552 และบริษัท พาณิชย์การประกันภัย ในปี 2548 โดยการเข้าไปรับลูกค้าของ 5 บริษัทประกันภัยที่ถูกสั่งปิดไปก่อนหน้านี้ตามคำสั่งของ คปภ. ซึ่งผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่ต้องการช่วยคนทำผิดและจะไม่ยอมให้เกิดซ้ำรอย จึงต้องคอยตรวจเช็กกันละเอียดยิบ รวมถึงกรณีบริษัท ส่งเสริมประกันภัย ที่คนใน คปภ.บอกว่าเรื่องปูดขึ้นเมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากรถมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน บริษัทคู่แข่งขันทำการตรวจสอบรายชื่อลูกค้า พ.ร.บ.ในระบบ แต่ไม่พบเลขที่กรมธรรม์ดังกล่าว จึงแจ้งเข้ามาที่ คปภ.ให้ทำการตรวจสอบ จึงพบว่าเป็นการขายโดยที่ไม่ได้ลงบัญชี และไม่มีการส่งข้อมูลเข้าระบบกลางที่ตกลงกันไว้ คปภ.จึงสั่งให้บริษัทเรียกคืนกรมธรรม์ที่แจกจ่ายให้ตัวแทน นายหน้า ที่ยังไม่ขายคืนทั้งหมด แตกต่างจาก 5 รายแรกที่ถูกสั่งปิดตาย เกิดจากเงินกองทุนติดลบและแก้ปัญหาเงินกองทุนไม่ได้

อย่างไรก็ตามปัญหาเงินกองทุนติดลบของทั้ง 5 บริษัท ล้วนเกิดจากการทุจริตและไม่ตรงไปตรงมาในการทำธุรกิจทั้งสิ้น ทำให้ คปภ.ได้บทเรียน จึงรีบสั่งบริษัท ส่งเสริมประกันภัย หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่เข้าข่ายเอาตัวไม่รอดในเร็วๆ นี้มีอีก 5-6 ราย โดยมีพฤติกรรมการแข่งขันตัดราคาเบี้ยประกันภัย จ่ายค่านายหน้าสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด บางรายจ่ายกัน 30-50% และมีการขายกรมธรรม์แบบขายขาด หรือในวงการใช้คำว่า ขายหัว ซึ่งบริษัทประกันภัยจะออกกรมธรรม์แล้ว ขายให้กับบริษัทนายหน้า หรือตัวแทน โดยปรับบทบาทตัวเองเป็นนายหน้ากินค่านายหน้าแทน หรือรับฉบับละ 10% หากลูกค้าไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน นายหน้า และตัวแทนก็รับเบี้ยประกันภัยเข้ากระเป๋า 90% แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ก็จะส่งลูกค้ารายนั้นให้บริษัทย้อนหลัง การบันทึกบัญชีจึงจะเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ซึ่งลูกค้ายังได้รับการดูแล แต่รัฐบาลเสียประโยชน์จากการสูญเสียภาษีรายได้ที่ควรจะได้รับ

ขณะที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็กอื่นๆ ตกอยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง เรื่องความสามารถในการบริหารความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะมีความเสียเปรียบเรื่องต้นทุนการดำเนินงานที่สูง 30-40% เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนอยู่ที่ 10% หลายบริษัทยังไม่คิดถึงอันตรายที่จะมากับการแข่งขัน ยังตัดราคาค่านายหน้า ค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อให้ได้เงินสดเข้าบริษัท โอกาสในการควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดเป็นไปได้ยาก เพราะต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เข้าทำนองคำพังเพย ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ และการขายกิจการของต่างชาติเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ต่างชาติต้องการบริษัทที่มีขนาดเบี้ยประกัน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และต้องมีฐานลูกค้าที่ไม่ซ้ำกับคู่แข่งขัน บัญชีต้องใสสะอาด และมีช่องทางการขายที่แข็งแกร่ง

แม้ว่า คปภ.จะปลดล็อกให้ต่างชาติถือหุ้นตรงได้ถึง 49% โดยไม่ต้องขออำนาจ รมว.คลัง อนุมัติในปีนี้ แต่ถึงวันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่จะนำไปสู่การควบรวมกิจการอย่างสมัครใจของบริษัทขนาดเล็กด้วยกัน ถ้าจะเกิดน่าจะมาจากการบังคับของทางการมากกว่า ในอดีตที่ผ่านมาการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้น เป็นกรณีที่มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน หรือเกี่ยวดองกันในทางเครือญาติ คือ บริษัท เมืองไทยประกันภัย กับบริษัท ภัทรประกันภัย ของตระกูลล่ำซำ และบริษัท นวกิจประกันภัย กับบริษัท สากลประกันภัย ของตระกูลหวั่งหลี การแข่งขันเพื่อดันตัวเองขึ้นไปอยู่แถวหน้า จะทำให้บริษัทที่ปรับตัวช้าเสียเปรียบและตกขบวน เพราะเค้กมีเพียงก้อนเดียว ทุกคนต่างต้องการช่วงชิงให้ได้เค้กที่มีชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ย่อมต้องทุ่มสุดตัวก่อนที่จะเปิดเออีซี

ผู้ที่ถือเค้กก้อนใหญ่สุดมี 10 บริษัท โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมกันสูงถึง 8.08 หมื่นล้านบาท จากเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2554 ที่มีทั้งหมด 1.40 แสนล้านบาท อีก 5.92 หมื่นล้านบาท เป็นของ 57 บริษัท เฉลี่ยแล้วมีเบี้ยรายละ 1,038 ล้านบาทเท่านั้น คำถามที่เกิดขึ้น คือ บริษัทที่รั้งท้ายจะเอาตัวรอดหรือไม่อย่างไร ในเมื่อหาความได้เปรียบในการแข่งขันยาก หรือจะยอมแพ้ปล่อยให้ คปภ.สั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดตายโดยไร้ความผิด ขณะที่กลุ่มพิสมัยเล่นนอกกติกามีสิทธิถูกสั่งปิดตายกันเป็นเบือเพื่อสังเวย AEC

ที่มา : โพสต์ทูเดย์