ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ทุนไทยขายหุ้น ‘โตเกียวมารีน’ ขาดทุน 3,400 ล้าน ลุ้นสินไหมประกันภัยต่อ

ทุนไทยขายหุ้น ‘โตเกียวมารีน’ พิษน้ำท่วมทำขาดทุน 3,400 ล้าน สินไหมประกันภัยประมาณ 80,000 ล้านบาท จ่ายเอง 3,000 กว่าล้านบาท

ทุนไทยขายหุ้น ‘โตเกียวมารีน’ ขาดทุน 3,400 ล้าน ลุ้นสินไหมประกันภัยต่อ

กรกฎาคม
24

ปีนี้น่าจะเป็นปีที่บริษัทประกันภัยระดมเม็ดเงินเพิ่มทุนล็อตใหม่เข้ามามากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประกันวินาศภัยเพื่อเสริมฐานะการเงินที่อ่อนแอไปพอควร ให้แข็งแกร่งมากขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากน้ำท่วมใหญ่ปีก่อน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยมหาศาล เป็นวงเงินกว่า 4.8 แสนล้านบาท หลายบริษัทโดยเฉพาะค่ายประกันภัยของญี่ปุ่น ต้องจ่ายค่าเสียหายบานตะไทจนกระทบกับฐานะการเงิน เงินกองทุนลดฮวบต่ำกว่าเกณฑ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด

ข่าวจากคปภ.กล่าวว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนเพิ่มทุนไว้ก่อนหน้านี้ เรียกชำระเงินเพิ่มทุนเข้ามาหลายราย ได้แก่ บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชำระเงินเพิ่มทุนอีก 750 ล้านบาท หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติให้ แอกซ่า กรุ๊ปของฝรั่งเศสถือหุ้นโดยตรง ในแอกซ่าประกันภัย เกิน 49% โดยเงินเพิ่มทุนดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินเพิ่ม ทุน 1,500 ล้านบาทที่แอกซ่าจดทะเบียนเพิ่มทุนไว้เมื่อเร็วๆ นี้

บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เรียกชำระเงินเพิ่มทุนก้อนใหม่จำนวน 200 ล้านบาทจากเดิมมีอยู่ 300 ล้านบาทรวมเป็น 500 ล้านบาท บริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด เพิ่มทุนอีก 50 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่ 1,100 ล้านบาท เป็น 1,150 ล้านบาท และบริษัท โตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 3,000 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่ 20 ล้านบาท เป็น 3,020 ล้านบาท ชำระเต็มจำนวน

“กรณีโตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย ก่อนน้ำท่วมฐานะการเงินแข็งแกร่งมาก มีกำไรสะสมประมาณ 1,700 ล้านบาท พอน้ำท่วมเขาเจอค่าสินไหมเยอะมากประมาณ 80,000 ล้านบาท เป็นสินไหมสุทธิที่ต้องจ่ายเอง 3,000 กว่าล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จเงินกองทุนขาดอยู่ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท หลังเพิ่มทุนน่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR Ratio) ไม่ต่ำกว่า 150% ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ยังไม่รู้ เขาน่าจะรู้ประมาณต้นเดือนกันยายน”

จากข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของ โตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย ที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์บริษัท ณ สิ้นปี 2554 ขาดทุน 3,442 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี 2554 ปีเดียวทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนติดลบ 608% ขณะที่ ณ 31 มีนาคม 2555 มีผลขาดทุน 216 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุน 154%

กรรมการผู้จัดการโตเกียวมารีน ศรีเมืองประกันภัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังและสำนักงานคปภ.ได้อนุมัติให้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 3,000 ล้านบาท รวมเป็น 3,020 ล้านบาท ผลจากการเพิ่มทุนทำให้โตเกียวมารีน แอนด์ นิชิโด ไฟร์ อินชัวร์รันส์ที่ญี่ปุ่น กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้นอกจากเพื่อรองรับการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตด้วย สำหรับในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมกว่า 2,900 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 42% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ด้านผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส โตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเพิ่มทุนรอบใหม่ 3,000 ล้านบาท นั้นทางโตเกียวมารีนที่ญี่ปุ่นเป็นผู้เพิ่มทุนเข้ามาทั้งหมด ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักคนไทยคือ ตระกูลเตชะไพบูลย์ ตระกูลเอื้อวัฒนะสกุล (อื้อจือเหลียง) และตระกูลเศรษฐภักดี ไม่ได้เพิ่มทุน พร้อมทั้งขายหุ้นทั้งหมดคืนให้กับโตเกียวมารีนที่ญี่ปุ่น ทำให้โตเกียวมารีนถือหุ้นในโตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัยเกือบ 100%

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มเงินกองทุนและจ่ายสินไหมประกันภัยน้ำท่วม เป็นการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ซึ่งเงินเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ระยะยาวที่ขอกู้มาจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นจำนวน 2,300 ล้านบาท รวมกับเงินสดอีก 700 ล้านบาท ที่บริษัทแม่ใส่เข้ามาเพิ่มให้

“ค่าสินไหมทั้งหมดของเราจากเหตุการณ์น้ำท่วมปีก่อนอยู่ที่ 81,000 ล้านบาท ตัวเลขนิ่งแล้วในจำนวนนี้เรารับเสี่ยงเอง 3,600 ล้านบาท ยังไม่รวมที่รับประกันภัยต่อจากไทยรีอีกประมาณ 600-700 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เราจ่ายไปแล้ว 42,000 ล้านบาท ที่เหลือตั้งใจจะจ่ายให้จบภายในปีนี้ แต่มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น กรณีรับประกันภัยร่วม ซึ่งเราไม่ใช่ผู้นำ (ลีด) ในการรับประกันภัย ต้องว่าตามผู้นำในสัญญานั้นๆ กรณีลูกค้าให้ข้อมูลไม่ครบ เป็นต้น”

ถามว่าเงินเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท เพียงพอรองรับฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจในปีนี้หรือไม่ กล่าวว่า พอหรือไม่พอขึ้นอยู่หลายปัจจัยสำคัญที่สุด คือการประกันภัยต่อจะสามารถเรียกเงินค่าสินไหมจากผู้รับประกันภัยต่อ ได้ตามสัดส่วนที่ควรจะได้หรือไม่ หากไม่ได้ส่วนต่างที่ว่าจะวกเข้ามาที่บริษัทต้องเป็นผู้จ่ายเอง

ด้านเทเวศประกันภัย กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้เงินกองทุนจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ หลังจากเพิ่มทุน 200 ล้านบาท ต้องคำนวณใหม่และต้องรอค่าสินไหมน้ำท่วมให้ตัวเลขนิ่งก่อน ถ้ายึดเกณฑ์เงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงหรือ RBC (Risk Based Capital) ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพียงพอที่จะรองรับธุรกิจได้อีกหลายปีแต่ขึ้นอยู่กับงาน เพราะบริษัทรับประกันภัยรถยนต์มากพอสมควร

ที่มา : สยามธุรกิจ