ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยยังโตแต่ลุ้นเหนื่อย หลายสารพัดปัจจัยเสี่ยงอื้อซ่า

ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ ตื่นตัวในการทำประกันภัยเพิ่มขึ้น บริษัทประกันภัยสามารถนำบทเรียนความเสียหายมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์

ประกันภัยยังโตแต่ลุ้นเหนื่อย หลายสารพัดปัจจัยเสี่ยงอื้อซ่า

เมษายน
20

โดย ที่มา : อาร์วายทีไนน์ วันที่ 17 เมษายน 2555 เวลา 00:00 น.

หลังอุทกภัยน้ำท่วมครั้งร้ายแรงในปลายปี 2554 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วน รวมถึงธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ในฐานะที่ดำเนินกิจการรับประกันความเสี่ยงภัย และมีหน้าที่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายให้กับผู้เอาประกันภัย

อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่เกิดขึ้นในปี 2554 อาจมองได้ว่าเป็นโอกาสในการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในระยะต่อไป เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจและตื่นตัวในการทำประกันภัยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทประกันภัยก็สามารถนำบทเรียนจากความเสียหายในปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กำลังซื้อ และความต้องการความคุ้มครองภัยของลูกค้า ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงผ่านผลิตภัณฑ์แบบจำกัดความคุ้มครอง (Sub Limit)

ปัจจัยหนุนทั้งด้านดีมานด์และซัพพลายดังกล่าว เมื่อรวมกับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นตามระดับความเสี่ยง คาดว่าจะส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2555 เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งกว่าปกติ และมีส่วนทำให้ภาพรวมการเข้าถึงการประกันภัยของประชากรไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมอาจเข้าเป้า 6% ของจีดีพีได้เร็วกว่าที่คาดไว้ในปี 2557

แม้ว่าผลการรับประกันภัยในเดือนแรกของปี 2555 จะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว โดยเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวนกรมธรรม์ และจำนวนเงินเอาประกันภัย มีอัตราเพิ่ม 5.1% 6.4% และ -10.4% ตามลำดับ (ตามการหดตัวอย่างแรงของการรับประกันภัย IAR และอัคคีภัย) แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงผลช่วงสั้นๆ และจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/2555 เป็นต้นไป เนื่องจากมีความชัดเจนเรื่องการรับประกันภัยต่อ หลังจากที่เริ่มมีการขายกรมธรรม์ภัยพิบัติ และตลาดรับประกันภัยรถใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้งตามการส่งมอบรถใหม่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญที่น่าสนใจไว้ดังนี้

- หนึ่งในแรงหนุนหลักของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2555 เกี่ยวพันกับผลของน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ซึ่งผลดังกล่าวปรากฏขึ้นในหลายมิติด้วยกัน กล่าวคือ

- การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ : โดยรัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางในการรับประกันภัยต่อให้กับบริษัทประกันภัย ในสถานการณ์ที่บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ ปฏิเสธและ/หรือปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งกองทุนฯ จะรับประกันภัยต่อในสัดส่วนสูงสุด 99.0-99.5% ของวงเงินเอาประกันภัย มีผลให้กลไกการรับประกันภัยกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เบี้ยประกันภัยรับในปี 2555 ปรับตัวสูงขึ้น จากผลของกองทุนฯ ใน 3 ทางหลัก ดังนี้

1. ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ และฉุดอัตราเบี้ยประกันภัยรับต่อลง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระต่อผู้เอาประกันภัยเกินไป
2. ช่วยลดความเสี่ยงในการรับประกันภัยให้บริษัทประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยมีความเชื่อมั่นที่จะเสนอขายประกันภัยส่วนที่เกินความคุ้มครองของกองทุนฯ และ
3. ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงการทำประกันภัยพิบัติได้มากขึ้น ในวงเงินคุ้มครองที่ใกล้เคียงกับความต้องการ (แม้ว่าการจ่ายค่าสินไหมจะขึ้นกับเงื่อนไขด้านระดับความเสียหาย และเงื่อนไขปลีกย่อยของผลิตภัณฑ์ที่กำหนด) ในภาวะที่ระดับความเสี่ยงภัยของไทยถูกยกระดับขึ้น ทั้งจากภัยครั้งรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2554 ที่ผ่านมา และแนวโน้มภัยธรรมชาติที่อาจเพิ่มความถี่และมีความรุนแรงขึ้น ท่ามกลางสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

- การปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นโดยบริษัทประกันภัยให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้น : โดยส่วนใหญ่มีผลกับการซื้อประกันภัยประเภทสรรพภัย หรือประกันภัยเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk : IAR) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่สัญญาการประกันภัยหมดอายุลงก่อนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติในเดือน มี.ค.55 ทำให้ผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยแพงขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่ส่วนน้อยมีผลกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย เนื่องจากฐานลูกค้าที่กว้างวงเงินความคุ้มครองต่อรายไม่สูงมาก และมีการกระจายความเสี่ยงออกไปในพื้นที่กว้างขวาง ทำให้ความเสียหายไม่สูงมากนัก จึงส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราเบี้ยประกันภัยน้อย ยกเว้นในรายที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงหรือเคยประสบภัยธรรมชาติมาก่อน

ส่วนการรับประกันภัยรถยนต์ ยังไม่มีการปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่ยังตรึงอัตราเดิมกอปรกับอัตราค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ถือเป็นรายได้ (Loss Ratio) ในปี 2554 จากการรับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนหน้ามากนัก

- การออกผลิตภัณฑ์ใหม่และการขยายความคุ้มครองภัยเพิ่มเติมของบริษัทประกันภัยเอง : บริษัทประกันภัยหลายแห่งได้ใช้โอกาสความตื่นตัวต่อภัยของประชาชน นำเสนอกรมธรรม์ประกันภัยที่เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในการซื้อความคุ้มครองภัยจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มฐานเบี้ยประกันภัยรับต่อกรมธรรม์ให้เพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยประมาณ 15-20% เช่น

- ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 2 และ 3 ที่ขยายความคุ้มครองถึงภัยน้ำท่วม โดยบริษัทส่วนใหญ่กำหนดวงเงิน Sub Limit ไว้ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย

- ประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย พร้อมส่วนเพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติ ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถซื้อความคุ้มครองได้สูงเทียบเท่าทุนประกันภัยหลัก ขณะที่โอกาสการเกิดภัยธรรมชาติมีสูงกว่าการเกิดภัยพิบัติ ทำให้ผู้เอาประกันภัยน่าจะได้รับประโยชน์จากการซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงวงเงินรับประกันภัยที่ยืดหยุ่นกว่าซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่นำอัตราการเติบโตค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับอดีตที่ผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องความคุ้มครองส่วนเพิ่ม

- นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทเสนอขายความคุ้มครองภัยพิบัติส่วนที่เกินจากกองทุนฯ โดยสำหรับบ้านอยู่อาศัยมีการขายความคุ้มครองส่วนเพิ่มให้สูงถึง 500,000 บาท ในอัตราเบี้ยประกัน 0.5-4% ขึ้นกับพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ลูกค้าเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหญ่ มีการเสนอขายความคุ้มครองแบบ Sub Limit เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5-50 ล้านบาทต่อราย โดยคิดอัตราเบี้ยประกันภัย 1-5% ตามระดับความเสี่ยงภัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น แม้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจสนใจที่จะซื้อประกันภัย แต่แรงจูงใจดังกล่าว อาจถูกบั่นทอนลงจากหลายเงื่อนไข และปัจจัยเฉพาะหน้าที่เข้ามากระทบการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกเรื่องน้ำท่วมที่ทำให้ต้องจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงโรงงาน ทำเขื่อนหรือจัดวางแนวป้องกันน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนค่าขนส่งและวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้

- ยอดขายรถที่เพิ่มขึ้นชดเชยภาวะชะงักจากภาวะน้ำท่วม : ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่ของไทย ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 4/2554 ให้หดตัวลงประมาณ 50% โดยมีปริมาณรถตกค้างที่ส่งมอบไม่ทันเป็นจำนวนประมาณแสนห้าหมื่นคัน (คาดว่าจะส่งมอบหมดในเดือนพฤษภาคม 2555 และเริ่มการผลิตเต็มกำลังตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555) ซึ่งเป็นโอกาสให้ยอดขายรถใหม่ในปี 2555 เติบโตในอัตราเร่งที่สูงมากไม่น้อยกว่า 20-30% เป็นประมาณ 1 ล้านคัน ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่เกิดจากรถใหม่ในปี 2555 มีอัตราเพิ่มพิเศษจากภาวะปกติอีกเฉลี่ยประมาณ 10%

- คาดหวังแรงส่งจากการเติบโตตามปกติของธุรกิจประกันภัย โดยตามปกติแล้วอัตราการเติบโตเบี้ยประกันภัยส่วนใหญ่จะถูกผลักดันจากการประกันภัยรถยนต์ ตามการเติบโตของยอดจำหน่ายรถใหม่ และประกันภัยประเภทเบ็ดเตล็ด ตามความต้องการทำการประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยมักจะมีอัตราเติบโตในระดับเลขสองหลักต้นๆ ซึ่งทั้ง 2 หมวดการรับประกันภัยนี้ มีสัดส่วนในเบี้ยรวมสูงประมาณ 90% ขณะที่ในปี 2555 นั้น นอกจากแรงส่งจากความต้องการทำประกันภัยสองส่วนดังกล่าวจากลูกค้าเดิมแล้ว ก็ยังคาดว่าตัวแปรด้านความตื่นตัวและอัตราเบี้ยประกันภัยที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ น่าจะช่วยเสริมให้สัดส่วนของเบี้ยรวมสองประเภทนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 93% ได้

- การปรับปรุงช่องทางในการขายประกันวินาศภัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานธุรกิจ เป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ชัดเจนขึ้น เพื่อเสริมเสถียรภาพทางธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยดำเนินการผ่านการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายตรง ขายผ่านบัตรเครดิต ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ รวมถึงช่องทางออนไลน์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยลง รวมถึงการจัดทำสรุปเงื่อนไขการรับประกันภัยที่กระชับ และง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยรับรู้ประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารรายใหญ่ ก็มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มบทบาทการเป็นนายหน้าขายประกันวินาศภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้จากค่าธรรมเนียมจำนวนมากที่ไม่เป็นภาระต่อเงินกองทุนของธนาคารแล้ว ยังช่วยปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหนี้สินเชื่อของธนาคารด้วยซึ่งด้วยเครือข่ายสาขาของธนาคารที่กว้างขวาง จะทำให้เพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยของประชาชนรายย่อยเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยที่อยู่อาศัย ประกันภัยรถยนต์ ส่วนลูกค้าผู้ประกอบการ ก็จะได้รับประโยชน์จากการประกันภัยที่เชื่อมโยงกับภาระหนี้ที่มีต่อธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยความเสี่ยงภัยจากธุรกิจหยุดชะงัก ประกันภัยความรับผิดของผู้บริหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าช่องทางใหม่ในการขายประกันวินาศภัยภัย นอกเหนือไปจากการขายตรง และการขายผ่านนายหน้า ซึ่งเคยเป็นตัวหลักในอดีต จะเริ่มมีบทบาทชัดเจนขึ้นเรื่อยๆนับจากปีนี้เป็นต้นไป และยังอยู่ในช่วงของโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อไปอีกหลายปี เช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับฝั่งธุรกิจประกันชีวิตมาก่อนหน้านี้แล้ว

ด้วยแรงหนุนจากหลายปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2555 ว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องด้วยเบี้ยประกันภัยรับตรงรวม 165,500-167,500 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 18-20% เมื่อเทียบกับปี2554 ที่มีเบี้ยรับตรงรวม 139,834.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% จากปี 2553

โดยสรุป มหาอุทกภัยน้ำท่วมในปี 2554 ไม่เพียงจะทำให้ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัย เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมมีโอกาสเติบโตเหนือศักยภาพ เป็น 18-20% แต่ยังทำให้เกิดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ให้ความคุ้มครองภัยตรงกับความต้องการและความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เอาประกันภัยที่มีหลักประกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นบ้างก็ตาม

ขณะที่สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยนั้น แม้หลายแห่งได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากผลของอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ อันทำให้ต้องเดินหน้าเพิ่มความเข้มแข็งของฐานเงินทุน แต่ก็เชื่อว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมน่าจะผ่านพ้นความท้าทายในครั้งนี้ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ของ คปภ.ที่ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติของบริษัทประกันภัยจากเดิมที่ไม่เกิน 25% มาเป็นสัดส่วนที่สามารถ "เกินกว่า 25% ได้แต่ไม่เกิน 49%" (ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) เร็วกว่าที่กำหนดไว้ในแผนเดิม อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และภาวะตลาดเงิน-ตลาดทุนมีความเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนมากขึ้น ท่ามกลางโอกาสการเติบโตเชิงโครงสร้างของธุรกิจประกันวินาศภัย จากอัตราการถือครองของกรมธรรม์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผนวกกับการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ อาจเปิดโอกาสให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่ง เดินหน้านโยบายลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวของพอร์ตธุรกิจตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหากกองทุนฯ ดังกล่าวประสพผลสำเร็จตามที่คาดหวัง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว น่าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับรายได้และเงินกองทุนของภาพรวมบริษัทประกันวินาศภัยในระยะปานกลางถึงยาว

ที่มา : อาร์วายทีไนน์