ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยเล็งทึ้งคุ้มภัยน้ำท่วม

ประชาชนสนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยทั้งระบบเกือบ 2 ล้านหลังจาก 66 บริษัทประกันภัย ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือ 2

ประกันภัยเล็งทึ้งคุ้มภัยน้ำท่วม

มีนาคม
19

โดย ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 มีนาคม 2555 เวลา 09:57 น.

ค่ายประกันภัยเฮ แยกขายกรมธรรม์คุ้มภัยน้ำท่วมบ้าน เด้งรับลูกค้าเกือบ 2 ล้านหลัง แนะรัฐจำกัดรายย่อยซื้อ 1 กรมธรรม์ต่อบ้าน 1 หลัง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ด้านส.ชาวนาไทยจี้นายกฯ แจงพื้นที่รับน้ำและทางน้ำผ่านให้ชัดเจน โวยค่าชดเชย 600-5,000 บาทต่อไร่ต่อ 3 เดือนไม่คุ้มแน่ ยอมรับยังไม่ชัดเรื่องพื้นที่รับน้ำขอเวลาอีก 1 เดือน อ้างต้องรอบคอบตามที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ จะลงนามบันทึกความเข้าใจ 66 บริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งบริษัทไทยรับประกันภัยต่อฯ หรือไทยรี เป็นผู้จัดการกองทุน และจะเปิดขายกรมธรรม์ประกันภัยน้ำท่วมโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 21 มีนาคมนั้น

ล่าสุดนายกสมาคมประกันวินาศภัย และกรรมการผู้อำนวยการบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ได้แจ้งให้เข้าร่วมโครงการลงบันทึกข้อตกลง เพื่อจำหน่ายกรมธรรม์ภายใต้กองทุนประกันภัยพิบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มีนาคม 2555 โดยบริษัท ทีวีไอฯ พร้อมที่จะขายประกันภัยคุ้มครองน้ำท่วมอย่างแน่นอน โดยจะขายความคุ้มครองบ้านและที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมด้วย

"ที่ลูกค้ากังวลว่าความคุ้มครอง 1 แสนบาทนั้นต่ำเกินไป ทางบริษัทก็ได้แยกขายกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท โดยคิดเบี้ยประกันภัยประมาณ 2.5% ตามพื้นที่เสี่ยงหากมีความเสี่ยงต่ำอัตราเบี้ยจะลดลง ส่วนการคุ้มครองที่ 100,000บาทจะคิดเบี้ยที่อัตรา 2% หรือประมาณ 2,000 บาทหรืออาจจะปรับลดเหลือ 1.5%"

ขณะที่ข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัยรายใหญ่ กล่าวว่า ภายใต้กองทุนประกันภัยพิบัติเฉพาะบ้านและที่อยู่อาศัยนั้น คาดว่าจะมีประชาชนสนใจเป็นลูกค้าซื้อกรมธรรม์ทั้งระบบรวมแล้วเกือบ 2 ล้านหลัง จาก 66 บริษัท ซึ่งมีทั้งบ้านใหม่และบ้านมือ 2 ระดับราคาบ้านตั้งแต่หลักแสน จนถึงหลักล้านที่เข้ามาทำประกันภัยเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50% หรือประมาณ 6-7 แสนหลัง ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มโรงงานนั้น อาจจะมีอัตราทำประกันภัยคงที่ คือกลุ่มเอสเอ็มอีประมาณ 2.24 แสนกรมธรรม์ ส่วนโรงงานและภาคอุตสาหกรรมรวม 1.5 หมื่นกรมธรรม์

เลขาธิการสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า อัตราเบี้ยประกันภัยในตลาดนั้น ต้องมองเป็น 2 แบบคือ กรณีที่ไม่เกิดอุบัติภัย ถ้าอัตราเบี้ยจะขยับขึ้นก็ถือว่าแพงอยู่ดี ส่วนกรณีที่เกิดภัยตรงตามที่กองทุนประกันภัยพิบัติกำหนด แม้อัตราเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็ถือว่าเป็นอัตราที่ถูกกว่าราคาตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามเวลานี้อัตราเบี้ยประกันภัยยังอยู่ในระดับสูงเฉพาะอยู่ที่ 10% แต่ละบริษัทจะซื้อประกันภัยตามอัตราดังกล่าวแล้ว นำมาเฉลี่ยภัยขายแบบกระจายความเสี่ยง ส่วนใหญ่ต้องรอความชัดเจนของรูปแบบกรมธรรม์ที่จะเปิดตัว และการมีกองทุนเข้ามารับความเสี่ยงจากภัยสะสมนั้น ย่อมสร้างความเชื่อมั่นกับบริษัทประกันภัยภายในประเทศอย่างมาก

"เพดานความคุ้มครองบ้านและที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 แสนบาทนั้น หากเทียบราคาบ้านอาจจะเป็นเงินที่จ่ายความคุ้มครองน้อย แต่เชื่อว่าจะมีรายย่อยจำนวนมากที่ซื้อกรมธรรม์หลายฉบับคุ้มครองบ้านเพียงหลังเดียว โดยเฉพาะบ้านที่มีราคาสูงตั้งแต่ 2-3 ล้านบาทขึ้นไป จนถึง 10 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น ซึ่ง คปภ. น่าจะระบุว่าบ้านและที่อยู่อาศัย สามารถซื้อได้จำกัดที่กรมธรรม์ละ 1 ฉบับต่อหลังเท่านั้น"

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เตรียมออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นให้ความคุ้มครองบ้านและที่อยู่อาศัย โดยขอพิจารณาโครงสร้างเบี้ยประกันภัย และโครงสร้างเพื่อออกเป็นกรมธรรม์ก่อน แต่ในภาพรวมทั้งจากเบี้ยประกันภัยในระบบน่าจะปรับขึ้นประมาณ 20% และเบี้ยประกันที่อยู่อาศัยน่าจะปรับตัวสูงถึง 50% จากความไม่มั่นใจโดยรวมในวงกว้าง

"กองทุนประกันภัยพิบัติของรัฐบาล ยังเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในการเรียกความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นตลาดธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะประกันภัยบ้านและที่อยู่อาศัย หรือประกันภัยทรัพย์สิน ตลอดจนประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Industrial All Risks: IAR) ด้วยช่องทางที่เปิดกว้างและความต้องการที่เพิ่มขึ้น บวกกับผลพวงจากกรณีบริษัทรับประกันภัยต่อ หรือรีอินชัวเรอร์ปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันภัย"

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ