ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

รัฐไฟเขียว ‘กองทุนมหันตภัย’ ชวนค่ายประกันภัยลงขัน

บริษัทวินาศภัยภัยเป็นคนขายประกันภัยน้ำท่วมแล้วส่งเข้าในกองทุน กองทุนจะเอาประกันภัยไปขายต่างประเทศต่อ

รัฐไฟเขียว ‘กองทุนมหันตภัย’ ชวนค่ายประกันภัยลงขัน

ธันวาคม
29

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 21 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

รัฐพร้อมแชร์ตั้งกองทุนมหันตภัย 5 หมื่นล้านบาท รับประกันภัยน้ำท่วมลูกค้ารายย่อยบ้าน-ร้านค้า-เอสเอ็มอี เลขาคปภ. ลั่นสัปดาห์นี้คลังคัดโมเดล โดยคัดเหลือ 1-2 โมเดล ชี้ทุนประกันภัยรวมรายย่อยทั้งประเทศ 5 แสนล้านบาท ไทยรับไว้เอง 5 หมื่นล้านบาท ยึดตามเกณฑ์สากล 10% ยอมรับกองทุนมหันตภัยต้องเกิด เปิดโอกาสรายย่อยทำประกันเบี้ยสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นหมดสิทธิ์ ต่างประเทศขายให้แต่รายใหญ่ คาดดึงบ้าน 5-6 ล้านครัวเรือน ทำประกันน้ำท่วม ดันสุดลิ่ม Flood Model เปิดช่องลูกค้าได้รับส่วนลดเบี้ย ด้านเอกชนเชียร์เต็มที่กองทุนมหันตภัย

เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เห็นชอบให้จัดตั้งการประกันมหันตภัย ในรูปแบบกองทุนมหันตภัยมูลค่าทุนประกันภัยขึ้นต่ำ 50,000 ล้านบาทขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยทั้งครัวเรือน ร้านค้าและอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รายเล็กให้สามารถทำประกันภัยน้ำท่วมได้ ซึ่งคปภ.ได้ศึกษาโมเดลของหลายประเทศๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไต้หวันรวม 5 โมเดลภายในสัปดาห์นี้ จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อกรองให้เหลือ 1-2 โมเดล

“เนื่องจากประกันภัยทรัพย์สิน(ไม่รวมรถยนต์) ที่คุ้มครองน้ำท่วมมีทุนประกันภัยสูงมาก ส่วนใหญ่ประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ในต่างประเทศ เมื่อมีภัยใหญ่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศเสียหายมาก ดังนั้นในการต่อสัญญาที่จะคุ้มครองปีหน้า ทางเขาจึงจำกัดวงเงินความรับผิดสูงสุด (Sub limit) หรือลดทุนประกันภัยน้ำท่วมลง รวมถึงปรับเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมขึ้นเยอะมาก ถ้าเป็นอุตสาหกรรมรายใหญ่มีอำนาจต่อรอง ทั้งในเรื่องทุนประกันภัยและเบี้ยประกันภัย แต่ลูกค้ารายย่อยมีอำนาจต่อรองน้อย เป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ซึ่งการประกันภัยมหันตภัยโดยธรรมชาติรัฐจะต้องเข้ามาร่วม แต่ยังบอกไม่ได้จะเป็นรูปแบบไหน”

ทุนประกันภัยทรัพย์สิน (ไม่รวมรถยนต์) ที่มีความคุ้มครองน้ำท่วมทั้งประเทศมีมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท เวลารับประกันภัยภัยประเภทนี้มากกว่า 90% ส่งประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ เมื่อเกิดน้ำท่วมในประเทศไทย ทางรีอินชัวเรอส์ตกใจทุบโต๊ะค่าเสียหายสูงสุด 10 ล้านล้านบาทตามทุนประกันภัย ดังนั้นเมื่อจะต่ออายุกรมธรรม์ต้องลดทุนประกันภัยลง

ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้ แยกเป็นความเสียหายใน 7 นิคมอุตสาหกรรม ยึดตามทุนประกันภัยประมาณ 700,000 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ นอกนิคมฯ เช่น ครัวเรือนและร้านค้ารายย่อยทุนประกันภัยรวมประมาณ 2-300,000 แสนล้านบาท ส่วนนี้เสียหายไม่มากรวมทุนประกันภัย 2 ส่วนประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งความต้องการของรีอินชัวเรอส์ในการรับประกันต่อภัยน้ำท่วม สำหรับทรัพย์สินทั้งหมดในประเทศไทย จะลดทุนประกันภัยลงเหลือแค่ 10% ของทุน จาก 10 ล้านล้านบาทเหลือ 1 ล้านล้านบาท

“ ในใจของเราิ ความเสียหายของประกันภัยทรัพย์สินที่เราประเมินไว้ครั้งนี้ประมาณ 300,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน (ไม่รวมรถยนต์) ที่มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมด้วยประมาณ 17,000 ล้านบาท หากเป็นลูกค้าภาคอุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ เวลาซื้อประกันภัย ซื้อภัยคุ้มครองหลายอย่างมีความได้เปรียบ ทางรีอินชัวเรอส์จะเลือกขายประกันภัยน้ำท่วมให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ ทำให้ลูกค้ารายย่อยไม่สามารถซื้อได้ ถามว่ากองทุนมหันตภัยที่สร้างขึ้นควรจะมีมูลค่าไหร่ ถ้าเราดูเกณฑ์สากลปกติ บริษัทประกันภัยต้องรับประกันไว้เอง (Retention) 10% ของทุนประกัน ภาคครัวเรือน ร้านค้าและเอสเอ็มอีบ้านเรา มีทุนประกันภัยระดับ 500,000 ล้านบาท พอมั๊ยเรามองว่าน่าจะพอไม่ต่ำเกินไป คิด 10% เท่ากับ 50,000 ล้านบาท นี่คือส่วนที่เราต้องประกันไว้ในประเทศและรัฐต้องมามีส่วนร่วม เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ลูกค้ารายย่อยจะไม่มีอำนาจต่อรอง”

หากตั้งกองทุนนี้ขึ้นแล้ว คนที่จะทำประกันภัยคือใคร คือครัวเรือนซึ่งจากข้อมูลมีครัวเรือน 1.3 ล้านครัวเรือน ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เชื่อว่าครัวเรือนเหล่านี้อยากจะทำประกันภัยน้ำท่วม ความต้องการอาจจะขยายเพิ่มเป็น 5-6 ล้านครัวเรือน จากทั้งประเทศที่มีประมาณ 22 ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็น 25% เมื่อจัดตั้งกองทุนขึ้นมาแล้ว ต้องให้ประชาชนเข้าถึงประกันภัยน้ำท่วมได้ในราคาเบี้ยสมเหตุสมผล ให้ประชาชนในวงกว้างได้ใช้ประโยชน์ ส่วนเบี้ยจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับต่างประเทศจะโค้ดราคามา เพราะขณะนี้ความสามารถในการรับประกันภัย (Capacity) น้ำท่วมในประเทศไทยไม่มีเลย ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ทำให้การเกิดการแข่งขันทำให้เบี้ยประกันค่อยๆ ปรับลดลง

“บริษัทวินาศภัยภัยทั้ง 67 แห่ง ต้องเข้ามาร่วมกองทุนนี้ เป็นคนขายประกันภัยน้ำท่วมแล้วส่งเข้าในกองทุน กองทุนจะเอาประกันที่ส่งเข้ามาไปขายต่างประเทศต่อ บริษัทประกันภัยจะมีการพิจารณารับประกันภัยมากขึ้น คัดเลือกภัยที่ดีส่งเข้ามา เพราะบริษัทประกันภัยต้องส่งเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนด้วย จะทำให้บริษัทประกันภัยขายประกันภัยมีมาตรฐาน จะมีการจัดชั้นความเสียหายในกองทุน เช่น เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น บริษัทประกันภัยรับความเสียหายส่วนแรกไป ความเสียหายส่วนที่เกินจากนี้ รัฐบาลและบริษัทประกันต่อรับคนละครึ่ง เราอยากให้กองทุนเกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะกรมธรรม์จะหมดอายุสิ้นปีนี้ ขณะที่บริษัทจะมีการจัดสัญญาประกันต่อ (Treaty) ในไตรมาสหนึ่งนี้”

ที่ประชุมกยอ.ยังเห็นชอบให้คปภ.พัฒนา Flood Model หรือโครงสร้างความเสี่ยงภัยน้ำท่วมขึ้นมา ซึ่งจะประกอบด้วยแผนภาพแสดงเวลา เส้นทางเดินของน้ำเป็นอย่างไร จะแบ่งเป็นโซน แยกเป็นแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยแค่ไหน โดยโมเดลนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ในแง่ผู้เอาประกันภัยทั้งรายย่อยและอุตสาหกรรม สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำของตัวเองได้ ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยมีการบริหารความเสี่ยงน้ำภายใต้กรอบ Flood Madel ที่ว่านี้ มีโอกาสที่จะได้รับส่วนลดเบี้ยจากบริษัทประกันภัยด้วย โดยบริษัทประกันภัยต้องกำหนดชัดเจนให้ส่วนลดเบี้ยเท่าไร่ และวิธีที่จะได้ส่วนลดต้องทำอย่างไร

ในแง่บริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อ ทำให้สามารถวิเคราะห์ค่าสินไหมทดแทน และเบี้ยประกันภัยในอนาคตของพื้นที่นั้นๆ ได้ ส่วนภาครัฐสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำในอนาคต

“Flood Model เป็นหัวใจของการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำ หลังจากจัดทำเสร็จแล้ว จะให้เผยแพร่ข้อมูลกับทุกฝ่ายรวมไปถึงนักวิชาการ และสื่อต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจแนวแน่ของภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มความมั่นใจให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อ นักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ ถามว่าโมเดลนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ ทางกยอ.จะประสานกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน”

ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากบริษัทประกันภัยหาบริษัทรับประกันภัยต่อ มารับประกันภัยธรรมชาติไม่ได้จริงๆ ก็ต้องรับเสี่ยงภัยเอง โดยต้องมาดูว่าแต่ละบริษัทสามารถรับเสี่ยงภัยเองได้เท่าไร และที่สุดรัฐบาลก็ต้องตั้งกองทุนมหันตภัยขึ้นมา เพราะถ้ากองทุนไม่เกิดก็อาจจะทำให้ทุกกรมธรรม์ ไม่สามารถคุ้มครองภัยน้ำท่วมได้

“รัฐบาลต้องดูแลทั้งรายย่อยและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน หากรัฐบาลไม่ลงขันกองทุนมหันตภัยก็จะไม่เกิด บริษัทประกันภัยต้องหาทางประกันต่อเอง อีกแง่หนึ่ง หากรัฐบาลไม่รีบตั้งกองทุนมหันตภัยขึ้นมา ให้บริษัทประกันภัยหวังพึ่งแต่รีอินชัวเรอส์ ก็จะทำให้รีอินชัวเรอส์ถือโอกาสคิดเบี้ยแพงขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าบริษัทประกันภัยไทยไม่มีทางเลือก และจะเพิ่มเบี้ย แต่ถ้าตั้งกองทุนขึ้นมาเบี้ยจะปรับลดลง โดยในประเทศใหญ่ๆ ต่างก็มีกองทุนขึ้นมารองรับมหันตภัยใหญ่ทั้งสิ้น”

ที่มา : สยามธุรกิจ