ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยรถยนต์ หัวข้อ ขาดไร้อุปการะ

สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หัวข้อการเสียชีวิตนั้นทำให้มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย

ประกันภัยรถยนต์ หัวข้อ ขาดไร้อุปการะ

กรกฎาคม
4

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 2 กรกฎาคม 2554 เวลา 00:00 น.

คำสั่งนายทะเบียนประกันวินาศภัยที่ 27/2554 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องให้แก้ไขแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะมี ผลใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นี้

มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงความคุ้มครองพื้นฐาน ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ในส่วนการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่เสียชีวิต และการเสียชีวิตนั้นทำให้มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย หรือกรณีบุคคลภายนอกนั้นเองทุพพลภาพถาวร บริษัทที่รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่ทายาทที่ขาดไร้อุปการะ หรือบุคคลภายนอกที่ทุพพลภาพถาวรไม่น้อยกว่า 300,000 บาท (เดิม 100,000)

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเสีย ชีวิตของบุคคลภายนอกที่ไม่ทำให้ผู้ใดขาดไร้อุปการะ บริษัทที่รับประกันภัยไว้ก็ยังคงชดใช้อย่างน้อย 100,000 บาทเช่นเดิม สำหรับกรณีทุพพลภาพถาวรมีคำอธิบายไว้ในคำสั่งฉบับนี้ว่า หมายถึงทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆ ในอาชีพประจำและอาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่ใช้อยู่ ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจฉบับที่ใช้กันอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นปัญหาในการพิจารณาเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ส่วนการพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เป็นเรื่องใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินไหมทดแทนของทุกบริษัทประกันภัยที่จะต้อง ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า คำว่า “ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย” นั้นมีความหมายครอบคลุมเพียงใดในเรื่องนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนด บุคคลที่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันกฎหมายไว้เป็น 4 ประเภท คือ

1. สามีและภริยา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง บัญญัติว่า “สามี ภริยา ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” กรณีเช่นนี้ ดังนั้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ย่อมต้องถือว่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งขาดไร้อุปการะตามกฎหมายทันที แม้ว่าตามข้อเท็จจริงสามีและภริยาจะมีงานทำและมีรายได้ก็ตาม

2. บิดา มารดา และบุตร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญติว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” และมาตรา 1564 บัญญัติว่า “บิดามารดา จำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดา มารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้”

3. ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 บัญญัติว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น” ดังนั้น บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้เป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูต่อกัน

4. ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/2 บัญญัติว่า “ผู้ปกครองมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1564 วรรคหนึ่งมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง" สำหรับผู้ปกครองคงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้อยู่ในปกครองเฉพาะในขณะที่เป็นผู้เยาว์เท่านั้น สำหรับผู้อยู่ในปกครองไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น หากผู้อยู่ในปกครองเสียชีวิต ผู้ปกครองจึงไม่สามารถ เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้แต่อย่างใด

ในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามคำสั่งฉบับนี้ การยึดตามประเด็นของหลักกฎหมายเป็นแนวทางการพิจารณา เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน่าจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ถ้านำข้อเท็จจริงนั้นมาโต้แย้งต่อกันปัญหาคงจะมากมายจนเกินกว่าจะรับได้ ก็ได้แต่หวังไว้ว่าการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองพื้นฐานในครั้งนี้ คงทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น และ ทุกบริษัทประกันภัยคงทำความเข้าใจมากขึ้นด้วย

ที่มา : สยามธุรกิจ