ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

คปภ.ทลายขุมทรัพย์ ขายประกันภัยผ่านแบงก์ ตอนที่ 2

เหตุผลในการโดดลงมาทำธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ คือ การชลอตัวทางเศรษฐกิจ รายได้จากค่านายหน้า และฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่

คปภ.ทลายขุมทรัพย์ ขายประกันภัยผ่านแบงก์ ตอนที่ 2

มิถุนายน
11

โดย โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มิถุนายน 2554 เวลา 07:51 น.

คปภ. เร่งร่างกฎเกณฑ์คุมการทำธุรกิจของบริษัทนายหน้าประกันภัย ที่ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ตามแผนจะต้องให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างตัวแทน นายหน้าประกันภัยกับการขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์)

การขายประกันผ่านธนาคารเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีให้หลัง ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งโดดลงมาทำธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ หรือขายประกันผ่านธนาคารอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะนอกจากจะได้เปรียบในเรื่องกฎระเบียบที่เอื้อมไม่ถึงยังเป็นผลจาก

หนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การปล่อยกู้ลดลง รายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยหายไป จึงหันมาโหมโรงขายประกันอย่างคึกคัก เพื่อหารายได้จากค่านายหน้าที่เปิดเผยอย่างต่ำรับ 26-30% ของยอดขายในแต่ละปี และค่าธรรมเนียมแรกเข้าซึ่งไม่ถูกเปิดเผย หรืออาจเรียกว่าเป็นค่าส่งเสริมการตลาดอีก 300-500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสัญญาและฐานลูกค้าของธนาคาร

สอง การเป็นนายหน้าขายประกัน ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีต้นทุนในการให้บริการหลังการขาย ลูกค้าเดินเข้ามาหาถึงที่ ผลงานการขายประกันจึงถูกบรรจุไว้ในการวัดผลงานประจำปี (เคพีไอ) กดดันให้พนักงานออกไปเสนอขายนอกสถานที่ให้กับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนรู้จักถึงบ้าน เพื่อเร่งทำผลงาน

สาม สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานลูกค้าของธนาคารที่มีอยู่ โดยสามารถทำรายได้จากฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้กับบริษัทนายหน้า และบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย อีกรายชื่อละ 0.25-1 บาท ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อมูลลูกค้า ซึ่งจะถูกนำไปใช้ขายประกันผ่านโทรศัพท์

ผลจากเกณฑ์การกำกับที่แตกต่างกัน และความได้เปรียบของธนาคาร ทำให้นายหน้าทั่วไปและตัวแทนเสียเปรียบอย่างมาก และถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากขายสินค้าแบบเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถทำการตลาดได้เหมือนกับธนาคาร และมีเกณฑ์การกำกับสองมาตรฐานแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่ว่านายหน้าประเภทไหน มาขายประกันภัยประกันชีวิตจะต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับเดียวกัน นายหน้าและตัวแทนทั่วไปจึงเกิดการร้องเรียนไปที่ คปภ.มาตลอด

ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรม คปภ.จึงลุกขึ้นมาร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันชีวิต พ.ศ. 2554 ใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสมาคมนายหน้า สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย ธนาคารพาณิชย์ และครั้งนี้มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามารับรู้ด้วยในฐานะกำกับธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน

สำหรับในวันต่อไปจะนำเสนอถึงเกณฑ์ใหม่ ซึ่งทาง คปภ.ได้เพิ่มกฎเกณฑ์ที่ใช้สำหรับควบคุม การขายประกันของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน

ที่มา : โพสต์ทูเดย์