ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยไฟไหม้พ่วงน้ำท่วมจ่ายเบี้ยบ้านปีละ 1,000

รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัย ลูกค้ารายย่อยบ้านอยู่อาศัยบวกความคุ้มครองภัยภัยพิบัติ 3 ภัย ลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว

ประกันภัยไฟไหม้พ่วงน้ำท่วมจ่ายเบี้ยบ้านปีละ 1,000

มีนาคม
1

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 00:00 น.

ประกันภัยภัยพิบัติภายใต้กองทุน 50,000 ล้าน ใกล้คลอด “คปภ.-สศค.-ส.วินาศ ภัย” เห็นพ้องบังคับบ้านอยู่อาศัยทุกหลังที่ทำประกันอัคคีภัยพ่วงคุ้มครองภัยพิบัติอัตโนมัติ ย้ำเพื่อความสะดวก ลูกค้าไม่ต้องแยกซื้อ 2 กรมธรรม์ มั่นใจไม่เป็นภาระรัฐทำเบี้ยถูกได้ ส่วนการจ่ายสินไหมยึดโมเดลง่ายชดเชยตามระดับน้ำท่วมแบบขั้นบันได มิดหลังจ่ายเต็มทุนแสนบาท ส่วนเอสเอ็มอีรายใหญ่ให้แยกซื้อกรมธรรม์ภัยพิบัติต่างหาก คัดบริษัทประกันภัยร่วมรับลูกค้ารายใหญ่ ติดแบล็กลิสต์ คปภ. ฐานะการเงินไม่ดีห้ามขาย วงการเชื่อน้ำท่วมบ้าน ทุนแสนเบี้ยไม่เกินพัน ด้าน “เอออน” ออกตัวเคาะเบี้ยยังไม่ได้ ไม่รู้ไทยจะซื้อคุ้มครองแค่ไหน เผยโฉมบอร์ดกองทุนบิ๊กสภาอุตฯ คุม

นายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยถึงผลหารือล่าสุดระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมฯ เกี่ยวกับการทำประกันภัยภัยพิบัติ ภายใต้กองทุนส่งเสริมการประกันภัยภัยพิบัติวงเงิน 50,000 ล้านบาทว่า ในเรื่องของรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 3 ฝ่าย มีข้อสรุปให้แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ

1. ลูกค้ารายย่อยบ้านอยู่อาศัยทั่วไป ให้บวกความคุ้มครองภัยภัยพิบัติ 3 ภัยที่กำหนดไว้ในพ.ร.ก.ได้แก่ ลมพายุ น้ำท่วม และ แผ่นดินไหวไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกรมธรรม์หลักเลย โดยไม่ต้องแยกซื้อกรมธรรม์ภัยพิบัติต่างหากเหมือนที่เคยคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ เท่ากับลูกค้าที่ซื้อประกันภัยบ้านอยู่อาศัยจะได้ความคุ้มครองภัยพิบัติโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความสะดวกและง่ายกับผู้เอาประกันภัยไม่ต้องซื้อหลายกรมธรรม์ เนื่องจากวงเงินคุ้มครอง (ทุนประกันภัย) บ้านอยู่อาศัย สำหรับความเสียหายจากภัยพิบัติไม่สูงมากแค่ 100,000 บาท และรัฐบาลเชื่อว่าจะทำเบี้ยประกันภัยในราคาที่ถูกมากได้ ดังนั้น จะไม่เป็นภาระกับผู้เอาประกันภัยมาก

สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกค้ารายใหญ่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องแยกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภัยพิบัติต่างหาก เพราะในกรมธรรม์ความเสี่ยงภัยทุกชนิดแบบ Industrial All Risk : IAR ทั่วไป จะไม่มีความคุ้มครองภัยพิบัติ หากลูกค้าต้องการความคุ้มครองภัยพิบัติ ต้องขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภัยพิบัติเพิ่มเติม

ส่วนการจ่ายสินไหมทดแทนภายใต้กองทุนประกันภัยภัยพิบัติ นายกสมาคมประกัน วินาศภัยกล่าวว่า เพื่อให้ง่ายต่อผู้เอาประกันภัยและลดขั้นตอนของบริษัทประกันภัย ในการสำรวจความเสียหายในส่วนของบ้านอยู่อาศัย เห็นตรงกันให้กำหนดชัดเจนไปเลยว่าน้ำท่วมบ้านสูงถึงระดับไหนจะจ่ายเท่าไหร่ เช่น น้ำท่วมบ้านความสูงระดับ 10 ซม. จ่ายสินไหมทดแทน 30,000 บาท, 30 ซม.จ่าย 50,000 บาท, ตั้งแต่ 90 ซม.ขึ้นไปหรือมิดหลังจ่ายเต็มทุนประกันภัย 100,000 บาท เป็นต้น หลักเดียวกับประกันอัคคีภัยราคาประหยัด ขณะที่ลูกค้าเอสเอ็มอีและรายใหญ่ยึดหลักปกติ คือให้เจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจความเสียหาย

กรณีที่คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงภัยไว้เองไม่น้อยกว่า 1% อีก 99 ที่เหลือส่งเข้ากองทุนฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทประกันภัยบางแห่ง ส่งสัญญาณอาจจะไม่เข้าร่วม เพราะเกณฑ์ 1% มากเกินไปเกรงจะกระทบกับฐานะการเงินว่า หากเป็นประกันภัยบ้านอยู่อาศัยให้บริษัทประกันภัยทุกแห่ง เข้าร่วมรับประกันภัยไม่น้อยกว่า 1% เนื่องจากทุนประกันภัยไม่ได้สูงมาก แต่หากเป็นเอสเอ็มอีและลูกค้ารายใหญ่ อาจจะปรับสัดส่วนลงเหลือไม่ถึง 1% พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ชี้วัดบริษัทประกันภัยที่จะเข้าร่วม ซึ่งทางคปภ.เสนอให้นำกฎการเตือนภัยล่วงหน้าหรือเออร์ลี่ วอร์นนิ่ง (Early Warning) มาเป็นตัวชี้วัด หากบริษัทใดติดแบล็กลิสต์เออร์ลี่ วอร์นนิ่ง ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อความมั่นคงของลูกค้าไม่ให้เกิดปัญหาจ่ายสินไหม

“ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกรมธรรม์ การจ่ายสินไหม อัตราเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่ วงเงินคุ้มครองเอสเอ็มอีและลูกค้ารายใหญ่ จะใช้ที่เคยคุยกันไว้เป็นแบบจำกัดความรับผิด (Sub limit) รายละ 20% ของทุนประกันภัย แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาทหรือไม่ ต้องรอให้คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยภัยพิบัติเป็นผู้เคาะทั้งหมด”

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงบริษัท เอออน เบนฟิลด์ บริษัทโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ อันดับหนึ่งของโลก ที่ทางสมาคมฯ ให้เป็นผู้หาตลาดประกันภัยต่อและอัตราเบี้ยประกันภัย ที่รีอินชัวเรอส์จะกำหนดสำหรับการรับประกันภัยต่อ โครงการนี้ยังไม่นำเสนออัตราเบี้ยประกันภัยมาให้ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่รู้รัฐบาลไทยจะซื้อความคุ้มครองอะไรบ้าง และวงเงินคุ้มครองแค่ไหน ได้แต่นำเสนอรูปแบบการประกันภัยภัยภัยพิบัติของประเทศต่างๆ ที่ศึกษามาให้ดู รวมถึงให้คำแนะนำว่าการทำประกันภัยลักษณะนี้ ต้องดูรูปแบบความคุ้มครองที่อยากได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนจะได้กำหนดราคาเบี้ยได้ถูก

ด้านแหล่งข่าวจากวงการประกันภัยให้ความเห็นว่า การบวกภัยพิบัติเข้าไปในกรมธรรม์บ้านอยู่อาศัยเหมือนบังคับกลายๆ ก็จริง แต่ตามหลักการถือว่าถูกต้อง หากให้สมัครใจซื้อจะมีแต่คนที่เห็นว่าตัวเองเสี่ยงมาซื้อ ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยพิบัติกรมธรรม์บ้านอยู่อาศัยไม่น่าจะถึง 1,000 บาทต่อทุนประกัน 100,000 บาท ถ้าเบี้ยเกิน 1,000 บาทถือว่าแพง ซึ่งราคานี้ต่ำกว่าในท้องตลาดมาก หลังเกิดน้ำท่วมราคาเบี้ยประกันภัยที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดมีหลายเรต บางคนขาย 8% บางคนขาย 2-5% คุ้มครองซับ ลิมิตต่ำ ให้ลูกค้ารับผิดชอบเอง (Deductible) สูงๆ

กรรมการผู้จัด การใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เบี้ยประกันภัยรวมน้ำท่วมที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดตอนนี้ ประมาณ 1.5-8 % แล้วแต่บริษัทประกันภัยโดยภาครัฐจะทำราคาให้ต่ำลง อนึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติทั้งหมด 8 คนประกอบด้วยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิพล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานกองทุนฯ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติและเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการ กยน., นายเสรี จินตนเสรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย, นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ว่าที่ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคนใหม่

ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ นาย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ.

ที่มา : สยามธุรกิจ