ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยจมน้ำเฮ บอร์ดคปภ.ผ่อนกฎเคลมน้ำท่วม

ผ่อนปรนเกณฑ์คำนวณอัตราส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเงินกองทุนลง จากเดิมในช่วงปกติลดภาระให้บริษัทประกันภัย ผ่อนปรนให้ 15 เดือน

ประกันภัยจมน้ำเฮ บอร์ดคปภ.ผ่อนกฎเคลมน้ำท่วม

กุมภาพันธ์
19

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 28 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.

บริษัทประกันวินาศภัยหายใจโล่งอก เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์กำกับฐานะการเงินบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ช่วยบริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา

“ขณะนี้คณะกรรมการกำกับคปภ. (บอร์ดคปภ.) อนุมัติเพิ่มความยืดหยุ่นเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC ให้กับบริษัทประกันภัย ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยเสนอมาแล้ว รอประธานบอร์ด คปภ.ลงนามและออกประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้เท่านั้น โดยยอมผ่อนปรนเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเงินกองทุนลง จากเดิมที่เคยใช้ในช่วงปกติลดภาระให้กับบริษัทประกันภัย โดยจะผ่อนปรนให้ 15 เดือน “ เลขาธิการ คปภ. กล่าว

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR Ratio) เลขาธิการคปภ.ย้ำว่า ยังคงใช้เกณฑ์ขั้นต่ำ 125% เหมือนเดิมไม่ปรับลดลงไปที่ 100% เพราะเป็นเกณฑ์กำกับดูแลสากลที่จำเป็นต้องคงไว้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม หากผ่อนคลายลงกลัวบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ต่างประเทศจะยิ่งถอยห่างตลาดเมืองไทยมองเป็น 2 มาตรฐาน

ความเสียหายด้านการประกันภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม ค่าเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยมีการเรียกร้องเข้ามายังบริษัทประกันภัย ล่าสุดมีจำนวนประมาณ 290,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายของนิคมอุตสาห-กรรมทั้ง 7 แห่ง โดยมีการจ่ายไปแล้วประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของค่าเสียหาย ซึ่งคปภ. ติดตามการจ่ายของบริษัทประกันภัยตลอด คาดว่าตัวเลขที่จ่ายจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจจะเพิ่มมากในช่วงสุดท้ายและเชื่อว่าความเสียหายรวมไม่น่าจะเกิน 300,000 ล้านบาท

ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนาและวิเคราะห์ระบบการตรวจสอบ กล่าวถึงการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ว่า อัตราส่วนการคำนวณเงินกองทุนที่คปภ.ยืดหยุ่นให้ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องความเสี่ยงจากการประกันภัยต่อ กล่าวคือเวลาที่มีความเสียหายเกิดขึ้นโดยหลัก เมื่อบริษัทประกันภัยมีการทำประกันภัยต่อ มีสิทธิ์เรียกค่าสินไหมจากบริษัทรับประกันภัยต่อได้ ซึ่งในช่วงที่ยังไม่ได้เงินจากประกันภัยต่อตามหลัก RBC ต้องคำนวณเป็นความเสี่ยงบริษัทประกันภัย ต้องมีเงินกองทุนมารองรับความเสี่ยงจากเคลมประกันภัยต่อนี้ แต่คปภ. ยอมผ่อนปรนไม่ต้องคำนวณเป็นความเสี่ยง ไม่ต้องมีเงินกองทุนมารองรับทำให้บริษัทใช้เงินทุนน้อยลง

เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของคู่สัญญา เช่น ถ้าบริษัทรับประกันภัยต่อรายใดมีปริมาณหนี้สิน (เคลม) สูง บริษัทประกันภัยที่ส่งประกันภัยต่อไปให้จะถูกชาร์จความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต้อง มีเงินกองทุนมารองรับมากขึ้น ทางคปภ. จะยกเว้นความเสี่ยงตรงนี้ให้เช่นกัน โดยทั้ง 2 เรื่องนี้จะยืดหยุ่นให้ 15 เดือนนับตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2554 จนถึง 31 มีนาคม 2556

อีกตัวหนึ่งที่ผ่อนปรนให้คือในเรื่องของทรัพย์สินหนุนหลัง ปกติหากเกิดเคลม สมมติความเสียหาย 100 บาท บริษัทประกันภัยทำประกันภัยต่อออกไป 70 บาท อีก 30 บาทที่เหลือ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต้องมีทรัพย์สินมาหนุนหลังความเสี่ยงนี้เต็ม 100% หรือ 30 บาท แต่กรณีน้ำท่วมผ่อนปรนให้มีทรัพย์สินมาหนุนหลังแค่ 60% หรือแค่ 24 บาท โดยจะผ่อนผันให้เป็น 6 เดือนนับจาก 31 ธันวาคม 2554 เช่นกัน

ด้านสมาคมประกันวินาศภัยให้ความเห็นว่า การที่คปภ.ผ่อนคลายเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่อง RBC ให้กับบริษัทประกันวินาศภัย ช่วยบริษัทต่างๆ ได้มาก เพราะช่วงเวลาของการตั้งสำรองสินไหมกว่าที่จะตกลงค่าสินไหมกันได้ กว่าที่จะเรียกเงินจากรีอินชัวเรอส์ได้มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน หากคปภ.ใช้เกณฑ์กำกับปกติซึ่งเคร่งครัดมาก จะมีผลกระทบต่อการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยมาก ดังนั้นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ลงสามารถสร้างโอกาสให้บริษัทประกันภัย สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ได้ ไม่ทำผิดกฎหมายจนถูกคปภ.ลงโทษและไม่มีผลกระทบต่อความเสี่ยง

ที่มา : สยามธุรกิจ