ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ลูกค้าน้ำท่วมใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ ปีนี้ไม่ทันรวบยอดไปปีหน้า

หากชำระเบี้ยประกันภัยในปีหน้า จะเสียสิทธิ์การลดหย่อนภาษีในปีนี้ ปีหน้ากลับมาชำระปกติ สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนรวบยอดในปีหน้า

ลูกค้าน้ำท่วมใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ ปีนี้ไม่ทันรวบยอดไปปีหน้า

มกราคม
2

โดย สยามธุรกิจวันที่ 24 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ภาวะน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยเกิดขึ้นกินเวลายาวนานตั้งแต่ปลายกันยายน 2554 เป็นต้นมา ซึ่งทางสมาคมประกันชีวิตไทยได้ขอความร่วมมือบริษัทประกันชีวิตสมาชิกทั้ง 23 บริษัท ได้ขยายระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยให้กับลูกค้าจาก 31 วัน เป็น 91 วัน เพื่อไม่ให้ลูกค้ากังวลในเรื่องของกรมธรรม์ขาดอายุในช่วงน้ำท่วม รวมไปถึงการยกเว้นดอกเบี้ยและการตรวจสุขภาพ สำหรับการต่ออายุกรมธรรม์ที่ขาดอายุ โดยที่ผู้เอาประกันภัยต้องยื่นเรื่อง ขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยที่ขาดอายุไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนี้ในกรณีที่กรมธรรม์ของลูกค้าที่มีมูลค่าเงินสด (Cash Value) ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ตามกรมธรรม์ได้ เพื่อนำมาชำระเบี้ยได้เช่นกัน

“กรณีที่กรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดในช่วงน้ำท่วมนี้ หลายบริษัทก็ให้ลูกค้ากู้อัตโนมัติเพื่อนำมาจ่ายเบี้ยประกันภัย (Auto Premium Loan) เพื่อให้กรมธรรม์ยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป ซึ่งต่อไปหากลูกค้ามาชำระเบี้ยประกันภัยเป็นปกติ บริษัทก็ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ดี ดังนั้นวิธีนี้จึงทำให้สะดวกทั้งบริษัทเอง และลูกค้าก็ยังได้รับความคุ้มครองเหมือนเดิม และไม่เสียดอกเบี้ย”

นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้ความเห็นถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ในส่วนของการขยายเวลาชำระเบี้ยประกันภัย ซึ่งหลายบริษัทใช้วิธีกู้อัตโนมัติ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี มาตรการขยายเวลาชำระเบี้ยประกันภัยออกไป หลายบริษัทเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ก็ทำให้ไปครบกำหนดในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งหากไปชำระเบี้ยประกันภัยในช่วงปีหน้า จะทำให้เสียสิทธิ์การลดหย่อนภาษีในปีนี้นั้น แม้จะไม่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปีนี้ แต่ปีหน้าหากกลับมาชำระเบี้ยประกันภัยปกติ ก็สามารถที่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีรวบยอดในปีหน้า หรือเป็นการใช้สิทธิ์ 2 ปีรวมกัน

“ลูกค้าสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับปีนี้ ที่ยืดไปจ่ายปีหน้าและยอดทั้งหมดของปีหน้า ไปรวบยอดใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีปี 2555 ได้หมด ถือว่าไม่ได้เสียสิทธิ์ลดหย่อนภาษีแต่อย่างใด ซึ่งหากว่าไม่เกินวงเงินลดหย่อนภาษี 100,000 บาทตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยบำนาญ ก็ถือว่าลูกค้าไม่กระทบ แต่หากยอดรวม 2 ปี เกินวงเงินที่กฎหมายกำหนด ก็อาจจะทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบบ้าง”

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ข้อมูลจนถึง 9 ธันวาคม 2554 พบผู้เสียชีวิต 680 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ทำประกันชีวิตไว้ 103 ราย คิดเป็นมูลค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้น 34,570,922 บาท ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทประกันชีวิต 13 บริษัท และทุกบริษัทได้ดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนครบถ้วนทุกรายแล้ว

“จำนวนผู้เสียชีวิตที่ทำประกันชีวิตไว้เพียง 103 รายนั้น คิดเป็น 1 ใน 6 ของยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้เท่านั้น ซึ่งมองอีกแง่วิกฤตินี้อาจเป็นโอกาส ที่ตัวแทน จะชี้ให้เห็นว่าหากมีการทำประกันชีวิตมากกว่านี้ หรือมีการทำประกันชีวิตได้ถึง 50% ก็จะไม่กระทบมาก”

สำหรับมาตรการภาษีที่สมาคมได้ยื่นเสนอไปยังกรมสรรพากร และยังไม่ได้รับการแก้ไข สมาคมยังคงผลักดันต่อเนื่อง โดยที่เสนอไปมี 5 ข้อได้แก่
1. ตั้งสำรองเบี้ยประกันชีวิต ขอแก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (1) ให้บริษัทประกันชีวิตนำเงินสำรองประกันภัย มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 65% หรือให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
2. การขอลดหย่อนภาษีสำหรับกรมธรรม์พ่วงลงทุน (Investment Linked) ทั้งยูนิตลิงค์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ 300,000 บาท
3. ขอให้ธุรกิจประกันชีวิตได้รับสิทธิ ปรับลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากรที่จัดเก็บในอัตรา 0.01% เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆ
4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยขอให้บุคคลที่กู้เงินจากธุรกิจประกันชีวิต ได้รับสิทธิ์ยกเว้นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) ได้เช่นเดียวกับการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และ
5. ขอให้แก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 57 ตรีและคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 กรณีเงินได้ของภรรยา ซึ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิตและเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) ไม่ต้องถูกนับรวมเป็นเงินได้ของสามี ซึ่งทำให้ตัวแทนผู้หญิงเสียภาษีมากกว่าที่ควรเป็น ซึ่งตัวแทนประกันชีวิตในปัจจุบัน 80% เป็นผู้หญิง หากแก้ไขได้ก็จะเป็นการช่วยตัวแทนส่วนใหญ่ในระบบ

อย่างไรก็ดี จากการที่ภาครัฐมีแผนปรับโครง สร้างภาษี โดยเฉพาะสิทธิการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาที่มองว่ามากเกินไป ซึ่งก็รวมถึงสิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตนั้น “สุทธิ” กล่าวว่า เรื่องนี้ได้หารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าการไม่ปรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกัน ชีวิตจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า หากเทียบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่หายไป เพราะยังมีโอกาสที่จะได้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการที่รัฐมีมาตรการจูงใจลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต รวมไปถึงหาก ว่าบริษัทประกันภัยมีผลกำไรมากขึ้นก็ยังจัดเก็บ ภาษีเงินได้จากส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้น และเบี้ยประกันที่เข้ามามากก็เป็นโอกาสในการนำเม็ดเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น

“ทั้ง 5 ข้อที่เรายื่นเสนอไปก็ยังผลักดันต่อเนื่อง แต่ยังเป็นเรื่องยากที่จะให้ภาครัฐแก้ไข ยิ่งในช่วงนี้มีเรื่องปรับโครงสร้างภาษี เราจึงพยายามให้รัฐมองเห็นถึงผลกระทบจะมากกว่า หรือไม่หากลดสิทธิ์ลดหย่อนภาษี และรักษาระดับวงเงินลดหย่อน ให้ยังคงเท่าที่ให้ในปัจจุบัน ไม่ให้ต้องลดลงไปกว่านี้ ทั้ง 100,000 บาท และ 300,000 บาทของกรมธรรม์บำนาญ ซึ่งเราก็ไม่อยากให้คนที่เขาเคยได้รับสิทธิ์ลดหย่อน ต้องได้รับผลกระทบอาจเกิดผลเสียในเชิงจิตวิทยา เพราะเขาต้องทำประกันไป 10-20 ปี หากตัดสิทธิ์ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเชิงลบ กับธุรกิจได้”

ที่มา : สยามธุรกิจ