ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

โมเดลใหม่ประกันภัยน้ำท่วม ปิ๊งไอเดียพูลเงินกองทุน

เงินกองทุนทั้งหมดมาร่วมกันรับประกันภัย ตั้งเป็นบริษัทเฉพาะกิจรับประกันเฉพาะมหันตภัย หรือตั้งเป็นกองกลาง (พูล) หรือ กองทุนมหันตภัย

โมเดลใหม่ประกันภัยน้ำท่วม ปิ๊งไอเดียพูลเงินกองทุน

พฤศจิกายน
12

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 เวลา 00:00 น.

บริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ต่างประเทศได้รับผลกระทบ มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้น จึงไม่รับประกันภัยต่อ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยหามาตรการรองรับ เพื่อให้ประชาชนทำประกันภัยน้ำท่วมต่อไปได้ โดยเฉพาะลูกค้าเดิมที่ทำประกันภัยอยู่แล้วและกรมธรรม์จะหมดอายุ

นายกสมาคมประกันวินาศภัยกล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบกับธุรกิจประกันภัยโดยตรง ซึ่งงานส่วนใหญ่อาทิ ประกันภัยโรงงานอุตสาหกรรม ต้องประกันภัยต่อไปต่างประเทศ อีกทั้งสื่อต่างประเทศที่เผยแพร่ข่าวในประเทศไทยขณะนี้นำเสนอแต่ข่าวลบ ทางบริษัทรับประกันภัยต่อไม่รู้ข้อเท็จจริง รู้แต่เพียงมีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน จึงจำกัดการรับประกันภัยต่อ กระทบกับความสามารถในการรับประกันภัยธรรมชาติ ของบริษัทประกันภัยในประเทศไทย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงทำให้บริษัทประกันภัยรับประกันภัยธรรมชาติต่อไปได้ ซึ่งธุรกิจประกันภัยจะเสนอกับทุกฝ่าย ในแง่ของลูกค้าหากเป็นลูกค้ารายใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และโรงงานขนาดกลางในอดีต การทำประกันภัยธรรมชาติจะทำประกันภัยเต็ม ทุนเท่ากับทุนประกันภัยอัคคีภัยหรือภัยอื่นๆ ทั้งที่ความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างน้ำท่วมครั้งนี้เสียหายแค่บางส่วนเท่านั้น ไม่ได้เต็มทุนประกันภัย ต้องปรับพฤติกรรมใหม่ ทำประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น ลดทุนภัยธรรมชาติลงมาไม่ต้องทำเต็มทุนประกัน

สำหรับบริษัทประกันภัยก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันตัวเองมากขึ้น เช่นกัน เพราะรีอินชัวเรอส์บีบให้บริษัทประกันภัยป้องกันตัวเอง เช่น ตั้งเงื่อนไขให้ลูกค้ารับความเสียหายส่วนแรกเองมาก ขึ้น (excess หรือ deductible) อดีตอาจจะมีบ้างแต่วงเงินน้อยไม่กี่พันบาท ต้องเพิ่มขึ้นมาให้ลูกค้าร่วมกันรับความเสียหาย จะได้ช่วยกันบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยง

“ทุกฝ่ายต้องมีแผนงานบริหารความเสี่ยงภัยน้ำท่วมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รัฐบาลมีแผนงานให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ในขั้นตอนดำเนินการอย่างการอนุมัติเงินกู้ ให้นิคมฯ ไปสร้างกำแพงถาวรป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น ภาคอุตสาหกรรมอย่างนิคมฯ ต้องมีการวางแผนป้องกันตัวเองทำให้เป็นรูปธรรม โรงงานแต่ละแห่งต้องมีการวางแผนเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ”

ส่วนการเพิ่มกำลังความสามารถในการรับประกันภัยน้ำท่วมของธุรกิจประกันวินาศภัย อาจจะเพิ่มคาปาซิตี้ด้วยการเอาเงินกองทุนทั้งหมดที่มีอยู่ ในอุตสาหกรรมมาร่วมกันรับประกันภัย ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องมาศึกษารายละเอียดกันต่อไป จะตั้งเป็นบริษัทเฉพาะกิจรับประกันเฉพาะมหันตภัย หรือตั้งเป็นกองกลาง (พูล) หรือ กองทุนมหันตภัย แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาร่วมด้วย เอาเครดิตและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมาสร้างความเชื่อมั่น

“รูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องมาศึกษากันอีกที เพราะทั่วโลกที่เกิดมหันตภัยธรรมชาติอย่างญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ไต้หวันที่เกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลเข้ามาช่วยจะเอารูปแบบของแต่ละประเทศมาดูรูปแบบไหนเหมาะ วิธีนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรีอินชัวเรอส์ ให้เห็นว่าเรามีการบริหารจัดการที่ดี เป็นสิ่งที่เราจะศึกษาและนำเสนอกับภาครัฐ”

แหล่งข่าวจากวงการประกันภัยกล่าวให้ความเห็นว่า ภาพรวมการประกันภัยธรรมชาติในประเทศไทย ขณะนี้หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทางบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ในต่างประเทศไม่คุ้มครองภัยน้ำท่วม สำหรับการประกันภัยต่อความเสียหายส่วนเกิน (excess of loss reinsurance) แล้วเนื่องจากสัญญาที่ซื้อความคุ้มครองไว้ในปัจจุบันขาดทุนแล้ว และยังไม่รู้ความเสียหายจะลามไปเท่าไร มูลค่ามากขนาดไหน เนื่องจากน้ำในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยังคงไหลไปเรื่อยๆ

ที่มา : สยามธุรกิจ